‘บ้านเอื้ออาทร’แชมป์โอนทะลัก

03 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
ผลสำรวจยอดโอนพบ "บ้านเอื้ออาทร ของการเคหะ ฯทำอ่วมโอนทะลักทั่วประเทศ ผู้ซื้อบ้านเรียกร้องรัฐต่อมาตรการ เหตุแบงก์อนุมัติไม่ทัน เผยบางสำนักงานฯลากยาวถึง 8โมงเช้า บางพลีแชมป์วันเดียวกกว่า 2 พันราย ด้านคลัง หวังอสังหาฯ แจ้งเกิดสตาร์ทอัพทำบ้านเพื่อผู้สูงอายุ-อินโนเวชั่น พร้อมจูงใจให้สิทธิ์ประโยชน์ภาษี เปิดทางให้ใช้ที่ราชพัสดุ

สืบเนื่องจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2 % เหลือ 0.01% และค่าจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่ วันที่ 29 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 โดยในวันสุดท้าย กรมที่ดินได้ขยายเวลาการทำนิติกรรมจนถึง 24.00 นาฬิกานั้น

"ฐานเศรษฐกิจ" สุ่มสำรวจบรรยากาศการโอนส่งท้ายมาตรการฯ พบว่า หลายสำนักงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณงานเกิดขึ้นมาก ไม่ต่ำกว่า 900 ราย ถึงกว่าพันราย อาทิที่สำนักงาน(สนง.) ที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี มีปริมาณงานกว่า 2 พันราย เจ้าหน้าที่ทำปฏิบัติงานจนถึงรุ่งเช้า ตี 3-7โมงเช้า ของวันที่ 29 เมษายน 2559โดยโครงการที่มาโอนมากสุดคือ บ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน หลังจากวันสิ้นสุดมาตรการ ทุกสำนักงานที่ดินต่างระบุว่า การติดต่อโอนกรรมสิทธิ์ดูเงียบเหงาลง

เช่นเดียวกับสนง.ที่ดินกรุงเทพฯ สาขาบางเขน ที่ระบุว่า เจ้าหน้าทำงานกระทั่งถึง 05.00 น. ของวันที่ 29 เมษายน 2559 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดต่อขอใช้บริการ กว่า 900 ราย จากปกติ 100-120 รายต่อวัน โดยส่วนใหญ่ที่โอนจะเป็นอาคารชุดและที่มากที่สุดจะเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรของกคช.

ร้องต่ออีกเหตุแบงก์อนุมัติไม่ทัน

และจากการสอบถามนางรมย์ชลี กังธีระวัฒน์ เจ้าพนักงานที่ดินชำนาญการฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีคนมาโอนบ้านคึกคักมาก กว่า 800 ราย จากปกติ 150รายต่อวัน อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อเรียกร้องให้ รัฐบาลต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก เพราะ มองว่าสามารถระบายสต็อกที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบแนวสูงในเชียงใหม่ได้อีก

นางรัตนาภรณ์ สำแดง หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า คึกคักมากโดยเฉพาะวันสุดท้ายมีผู้มาติดต่อโอนกรรมสิทธิ์ กว่า 400 ราย โดยทางสนง.ให้บริการถึง4ทุ่มเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเอื้ออาทร อย่างไรก็ดี มีคนเรียกร้องอยากให้รัฐต่ออายุมาตการออกไปอีก เพราะ ที่ผ่านมา มีหลายราย ติดปัญหาสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อไม่ทัน

ไม่ต่างกับนายจงจิต สุวราช หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ระบุว่า ที่ผ่านมาสาขาหัวหิน ได้ทยอยโอนมาตลอด ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ และมากที่สุดช่วง4วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดมาตรการ เฉลี่ย กว่า 200 รายต่อวัน แต่หลังจากวันสิ้นสุดมาตรการ สนง.ที่ดินกลับสภาพเหงา

ด้านนายพงษ์ภาณุ พิมลภัทรกุล ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมที่ดิน กล่าวว่า ได้รับมอบจากอธิบดีกรมที่ดินให้เร่งสรุปยอดการโอนตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ วันที่ 29 ตุลาคม 2558- วันที่ 28 เมษายน 2559 ซึ่งขณะนี้ได้ติดตามทวงถามไปแต่ละสำนักงานทั่วประเทศจำนวน 53 จังหวัด 172 สำนักงาน ส่วนใหญ่ขอรวบรวมส่งวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2559 แต่กรมที่ดิน ต้องการให้ส่งภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 ก่อนเที่ยง เพื่อจะได้รายงานต่อกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้สำนักงานที่ดินส่วนใหญ่ที่ยังไม่ส่งตัวเลขเข้ามายังกรมที่ดิน ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดียวบ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ ที่เข้าเกณฑ์มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ แทบทั้งสิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อรับคำขอจดทะเบียนแล้ว ก็ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จหลายสำนักงานที่ดิน ต้องลากยาวถึง 8โมงเช้าของอีกวันคือวันที่ 29 เมษายน 2559

ทั้งนี้ แต่ละสำนักงานจะมีปริมาณงานเฉลี่ยกว่า 200 รายต่อวัน โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทปราการสาขาบางพลี มียอดการโอนสูงสุดกว่า 2 พันราย

สำหรับตัวเลขที่กรมที่ดินเก็บได้ล่าสุดจาก มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ตั้งแต่วันที่ 29ตุลาคม 2558 ถึง วันที่ 12 เมษายน 2559( ข้อมูลณวันที่ 29เมษายน2559) ประเภทขาย 2.194 แสนราย จำนอง 129,904ราย อย่างไรก็ดีส่วนที่เหลือ จะทราบผลอย่างเป็นทางการคือวันที่ 30เมษายน2559ก่อนเที่ยง

 "คลัง"จ่อดึงเอกชนทำบ้านผู้สูงอายุ

ทั้งนี้จากการจัดสัมมนาของหนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ " ในหัวข้อเรื่อง "ปิดฉากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จะไปทางไหน ( อ่านรายละเอียดเพิ่มในหน้า ..... ) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" เพิ่มเติมถึงนโยบายโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุว่า อยู่ระหว่างพิจารณาโดยกรอบแนวทางเบื้องต้น จะมาจากความร่วมมือด้วยกัน 2 ฝ่าย คือ ภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะช่วยในเรื่องการหาที่ดิน หรืออาจจะเป็นความช่วยเหลือด้านภาษี ให้กับเอกชน เนื่องจากโครงการนี้เข้าข่ายโครงการที่ทำเพื่อสังคม เบื้องต้นอาจใช้ที่ดินที่มีอยู่ในมือของรัฐหรือเอกชนก็สามารถทำได้ ลักษณะดังกล่าวทำร่วมกับฟากของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์ที่ไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยภายในจะต้องมีลักษณะที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก

ให้สิทธิภาษี-บีโอไอจูงใจ

ตอนนี้แนวคิดบ้านพักคนชรายังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น ระยะแรกจะให้เอกชนเข้ามาให้ความร่วมมือและหากพร้อมที่จะพัฒนาโครงการในลักษณะตอบแทนให้กับสังคม (social enterprise ) กลุ่มที่มองว่าน่าจะมีความสามารถ คือ กลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากหากดูจากผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมาถือว่าดีมาก ที่สำคัญที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือโดยออกมาตรการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการทำให้เศรษฐกิจปี2559 เสี่ยงจะกระทบรุนแรง เพราะต้องยอมรับว่าภาคอสังหาฯ เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการจ้างงานและมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุด

"เมืองไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วคือมีคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการอสังหาฯ ให้เข้ามาร่วมทำตรงนี้คือบ้านผู้สูงอายุ ,บ้านในอนาคต เช่นบ้านประหยัดพลังงาน ,บ้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับกลุ่มอุตสาหกรรมสต๊าท อัพถึง 3 เท่า ( ม.ค. 2558-ม.ค. 2562 ) ก็อยากให้มีสต๊าทอัพในเรื่องการสร้างบ้าน ,บ้านเพื่อคนพิการ หรือที่มีอินโนเวชั่นใหม่ ๆ"

อย่างไรก็ดีหากโครงการมีความชัดเจนว่ามีเอกชนสนใจที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการแล้ว กระทรวงอาจจะพิจารณาเรื่องมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติมในลักษณะของภาษีนิติบุคคล เช่นให้นำมาหักลดหย่อนได้กี่เท่าก็ตาม แต่หากมองในมุมของการต้องการให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนแล้วคงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอว่าจะมีมาตรการทางภาษีเพิ่มเติมให้หรือไม่ ที่อาจเป็นคนละส่วนกับมาตรการทางภาษี ที่กระทรวงการคลังสามารถพิจารณาและที่สำคัญต้องไปดูว่าจะทับซ้อนกันหรือไม่

เน้นเป็นบ้านพักเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นแนวคิดที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา ขณะนี้กรมธนารักษ์เองก็ได้มีแผนที่จะใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์ โดยปี 2559 ได้เปิดซองให้เอกชนผู้สนใจร่วมเสนอราคาและรายละเอียดเพื่อพัฒนาโครงการแล้วใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดนครนายกและจังหวัดเชียงราย นำร่องเพียง 2 พื้นที่ แต่มีข้อได้เปรียบคือ รองรับผู้สูงอายุทางกรุงเทพและปริมณฑล และพื้นที่ที่ 2 ที่จะรองรับชาวต่างชาติที่ต้องการอยู่อาศัยทางภาคเหนือ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้เอกชนผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการอย่างไร ซึ่งรูปแบบโครงการจะเน้นเป็นบ้านพักเชิงพาณิชย์เหมือนกันโครงการที่มีต่างประเทศ

BOIให้สิทธิอากรนำเข้าเครื่องจักร

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผย" ฐานเศรษฐกิจ"ถึงโครงการบ้านผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลมีแนวนโยบายจะผลักดันว่า ในแง่ของบีโอไอ ขณะนี้มีกิจการที่ให้การส่งเสริมอยู่แล้วสำหรับผู้สูงอายุคือ กิจการประเภท7.23.4,กิจการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ที่มีหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม B1 ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับสิทธิประโยชน์แต่ไม่ใช่เรื่องภาษี กล่าวคือ ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขจะต้องใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพ ต้องมีการจัดโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพแบบต่อเนื่อง และมีการมาพักค้างคืนสำหรับผู้มาใช้บริการ
ส่วนกิจการ "ศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ หรือ "เมดิเคิลฮับ "( Medical Hub) ซึ่งเป็น 1ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตนั้น ขณะนี้บีโอไอ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้สิทธิประโยชน์อะไรได้บ้างเพราะจะครอบคลุมมากถึง 3 สาขา คือ 1. การผลิตยา 2.เครื่องมือแพทย์ และ 3. บริการด้านสุขภาพซึ่งในส่วนนี้จะรวมถึงโครงการบ้านผู้สงอายุอยู่ด้วย ซึ่งสิทธประโยชน์อาจจะได้เหมือนกิจการที่ให้ส่งเสริมอยู่แล้ว คือ ประเภท7.23.4 กิจการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ

"สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทางกระทรวงการคลังน่าจะเป็นฝ่ายให้สิทธิประโยชน์ตรงนี้จะเหมาะสมกว่า ซึ่งเดือนพฤษภาคมนี้ในส่วนเมดิเคิลฮับน่าจะคืบหน้า"

ทั้งนี้โดยปกติจะมีนักลงทุนมาขอส่งเสริมในกิจการประเภทนี้แต่น้อยมาก เนื่องจากบีโอไอไม่ได้ให้สทธิประโยชน์ทางภาษี"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559