เบื้องลึกยึดคืนบางกอกเจมส์ เสียงสะท้อนจากสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ

03 พ.ค. 2559 | 14:00 น.
กลายเป็น "ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์" สร้างความสับสนปนสงสัยให้กับคนทั้งในและนอกวงการอัญมณีและเครื่องประดับทั้งไทยและเทศกันถ้วนหน้า ต่อกรณีที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) ได้ ประกาศขอยุติการมอบหมายให้สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับเป็นผู้จัดงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิว เวลรี่ แฟร์" หนึ่งในงานแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของไทยซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยจะมีผลในการจัดตั้งแต่ครั้งที่ 58 (ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้) เป็นต้นไป

ทั้งนี้การขอให้ยุติ ซึ่งเปรียบเสมือนการยึดคืนงานบางกอกเจมส์มาจัดเองในครั้งนี้ ทางกรมระบุเหตุผลหลักเพียงสั้นๆ ว่าสืบเนื่องจากการจัดงานในช่วงที่ผ่านมาไม่พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นกรมจะดึงงานดังกล่าวกลับมาทำเองเพื่อต้องการยกระดับงานให้มีภาพลักษณ์และคุณภาพที่ดีขึ้น

สมาคมแจงเบื้องหลังที่มา

ต่อเรื่องนี้นายอดิศร อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไป ในฐานะผู้จัดการโครงการงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(บางกอกเจมส์ฯ) สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นแม่งานหลักในการดูแลการจัดงานบางกอกเจมส์ของสมาคมที่จัดปีละ 2 ครั้ง ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อไขข้อข้องใจถึงเบื้องหน้า เบื้องหลังและเบื้องลึกของเรื่องดังกล่าว โดยเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการให้สมาคมเป็นผู้จัดงานบางกอกเจมส์ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่มีนายสนิท วรปัญญา ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก(ชื่อเดิมของกรมส่งเสริมการค้าฯ)โดยได้มอบหมายให้สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยฯ เป็นผู้รับงานนี้ไปจัด เนื่องจากเห็นว่าเอกชนมีความแข็งแรงแล้ว ประกอบกับกรมมีภารกิจมากมายที่ต้องทำ

"ทั้งนี้คุณสนิทระบุว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดงานไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน เอกชนต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด และภายใน 2 ปีถ้าเอกชนสามารถที่จะยืนอยู่ได้ก็ให้จัดงานไปตลอด ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้สมาคมจัดงานมาตั้งแต่ครั้งที่ 24 (จัดขึ้นในเดือนก.ย.2542) จนถึงล่าสุดในครั้งที่ 57 (จัดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) รวมเราจัดมาแล้ว 34 ครั้ง ก่อนที่กรมจะประกาศขอยุติการมอบหมายให้สมาคมเป็นผู้จัดงานในครั้งที่ 58 ที่กำลังจะมาถึง"

โดยเหตุผลที่ทางกรมได้พูดคุยกับผู้บริหารของสมาคมก่อนที่จะมีหนังสือด่วนมากลงวันที่ 17 มีนาคม 2559 ถึงนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ เพื่อขอยุติการมอบหมายให้สมาคมฯเป็นผู้จัดงานบางกอกเจมส์ กล่าวอ้างเหตุผลใน 2 เรื่องคือ 1.เรื่องความไม่สามัคคีในอุตสาหกรรม แต่ในตอนแรกใช้คำว่าในสมาคมมีความขัดแย้งกัน และ 2.การไม่พัฒนาการจัดงาน

สารพัดเรื่องผสมโรง

"เรื่องความไม่สามัคคีในอุตสาหกรรม ในข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมอัญมณีฯมีหลายสมาคม แต่ส่วนใหญ่เขาก็เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยฯ ด้วย แต่ที่ผ่านมามีกลุ่มที่ลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการสมาคม(กรรมการสมาคมจะมี 33 คน) แต่มีกลุ่มหนึ่งเขาไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ก็ไปเล่นการเมืองโดยหาเหตุไปบอกกับกรมว่างานไม่ดี ไม่พัฒนา บางรายก็ขอยกเลิกการจองบูธงานบางกอกเจมส์แบบกะทันหัน เพื่อให้เห็นว่ามีคนร่วมงานน้อย รวมถึงมีกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งแล้วบางท่านก็ไม่พอใจนายกสมาคมที่ไม่มอบหมายให้เป็นซีอีโอในการจัดงาน ผสมโรงกับผู้ร่วมออกงานแฟร์บางรายไม่ประสบความสำเร็จในการขายก็ไม่พอใจ หลายเรื่องทำให้ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมแตกแยกไม่สามัคคีกัน แต่หากทุกคนนึกถึงอุตสาหกรรมในภาพรวมเป็นหลักเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น"

พัฒนางานร่วมกันมาตลอด

ส่วนอีกเหตุผลที่บอกว่าที่ผ่านมาสมาคมไม่พัฒนางานบางกอกเจมส์ และจัดงานได้ไม่ดี เรื่องนี้ทางสมาคมก็มีข้อโต้แย้งเพราะที่ผ่านมาทางสมาคมและคณะกรรรมการอำนวยการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(งานบางกอกเจมส์ฯ) ซึ่งตัวแทนจากทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมส่งเสริมการค้าฯ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ สมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงิน สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ รวมถึงผู้แทนจากบริษัทส่งออกอัญมณีรายใหญ่ ก็มีการประชุมเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาการจัดงานฯให้มีรูปแบบและคุณภาพที่ดีขึ้นเป็นระยะ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และเป้าหมายให้งานบางกอกเจมส์ฯติด 1 ใน 3 ของงานแฟร์อัญมณีโลกภายในปี 2561

"ที่ผ่านมาการจัดงานบางกอกเจมส์จากผลการสำรวจผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่มีความพึงพอใจงานเกิน 60% แต่ยอมรับว่าในบางครั้งมีปัจจัยที่ทำให้คนมาร่วมออกงาน(Exhibitor ) และผู้เข้าชมงาน(Visitor) ลดลงบ้าง ผลจาก 1.เรื่องเศรษฐกิจโลก และ 2.ปัญหาการเมืองในประเทศ เช่น มีรัฐประหารในปี 2549 และมีเรื่องเสื้อเหลือง-เสื้อแดง มีการปิดสนามบิน เป็นต้น อย่างไรก็ดีในการจัดงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 56 เมื่อเดือนกันยายน 2558 มีท่าน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน ท่านก็ชื่นชมว่าจัดได้ดีมาก"

ผลกระทบอื้อถูกยึดคืน

สำหรับการที่กรมให้สมาคมยุติการจัดงานบางกอกเจมส์แบบกะทันหันในครั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาทันทีคือบุคลากร 40 คนจะต้องถูกเลิกจ้างทันทีหากไม่การจัดงาน และที่กระทบตามมาคือซัพพลายเออร์ที่ทางสมาคมได้ทำสัญญาจ้าง และให้เขาลงทุนไปแล้ว เช่นแบนเนอร์ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์งาน สิ่งก่อสร้างต่างๆ สำหรับทำบูธ และส่วนต่างๆ ของงาน การเซ็นสัญญากับต่างประเทศในการประชาสัมพันธ์งานที่ได้เริ่มโปรโมตแล้ว ที่สำคัญได้จองพื้นที่จัดงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 58 ระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2559 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานีไว้เรียบร้อยแล้ว(แต่ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา) ซึ่งหากไม่ได้จัดทางสมาคมก็จะเสียหายมากในแง่ชื่อเสียง ลูกค้าจะเกิดความสับสนและอาจคืนบูธที่ได้เปิดจองล่วงหน้าไปแล้ว

เตรียมชื่องานใหม่-เสนอจัดร่วม

ดังนั้นหากทางกรมไม่ให้ทางสมาคมเป็นผู้จัดงานบางกอกเจมส์ แต่จะเป็นเจ้าภาพจัดเอง ก็ไม่ควรจัดในวันเวลา และสถานที่เดียวกัน เบื้องต้นทางสมาคมจะยังคงเดินหน้าจัดงานต่อไป โดยได้เตรียมชื่องาน "Bangkok Gems and Jewelry Watch Fair" ไว้แทน

"เราได้เตรียมการจัดงานเอาไว้หมดแล้ว อยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาลโดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีว่าถ้าทางกรมไม่อยากจัดงานกับเราก็ขอให้ปิดพื้นที่อิมแพ็ค ให้กับเรา แต่ถ้าหากเป็นไปได้ก็อาจจะจัดร่วมกันในชื่อเดิมคืองานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ในครั้งนี้ไปก่อน ครั้งต่อไปค่อยแยกกันก็ได้ หรือในอนาคตงานบางกอกเจมส์ฯซึ่งจัดปีละ 2 ครั้ง กรมอาจจัดครั้งหนึ่ง และให้สมาคมจัดอีกครั้งหนึ่งก็ยังเป็นไปได้" นายอดิศรให้ข้อเสนอทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559