ปิโตรเคมีจี้ภาครัฐแก้อุปสรรคลงทุน ประกาศผังเมืองล่าช้าเงินทุนชะงัก

05 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
คลัสเตอร์ปิโตรเคมี จี้ภาครัฐเร่งหาข้อสรุปแก้อุปสรรคการลงทุน 4 ข้อ หวั่นผังเมืองใหม่มาบตาพุดล่าช้า ยื่นขอส่งเสริมไม่ทันภายในปีนี้ พร้อมเร่งพิจารณาขยายพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพจากชลบุรีและระยอง ออกไปยังพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง และออกมาตรการให้ผู้ที่ใช้พลาสติกชีวภาพ สามารถหักลดค่าใช้จ่ายได้ 300 % และเร่งทบทวนมาตรฐานการระบายมลพิษให้ชัดเจน

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามการดำเนินงานของอนุกรรมการฯทั้ง 9 คณะ และได้มีการพิจารณาปัญหาที่เป็นอุปสรรคด้านการลงทุน

โดยเฉพาะในส่วนของคลัสเตอร์ปีโตรเคมี ที่มีพร้อมด้านการลงทุนมากที่สุด มีการกำหนดประเภทกิจการ นักลงทุนเป้าหมาย แล้ว อีกทั้ง ทางผู้ประกอบการที่จะลงทุนก็ได้มีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอไปแล้ว ว่ามีโครงการใดหรือประเภทกิจการใดที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในรูปแบบคลัสเตอร์

แต่ทั้งนี้ ทางนักลงทุนยังเป็นห่วงการประกาศผังเมืองในพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุด ทางจังหวัดระยองยังไม่สามารถประกาศผังเมืองรวมของจังหวัด รวมถึงผังเมืองมาตาพุดออกมาได้ หากมีความล่าช้า จะทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ให้ทันภายในปีนี้ ที่ประชุมจึงได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองไปเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนนี้ ซึ่งหากผังเมืองรวมจังหวัดระยองประกาศออกมาได้ภายใน 2 เดือนนี้ จะทำให้มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงกลางปีนี้ได้ราว 2 แสนล้านบาท ตามที่บีโอไอเคยให้ข้อมูลไว้ โดยผังเมืองใหม่จะมีพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมได้เกือบ 3 หมื่นไร่ โดยหักพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นที่ดินราชการและป่าไม้ออกไปแล้ว

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้มีการขอขยายพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดชลบุรี และระยอง ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ที่เป็นแหล่งการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อให้การลงทุนเกิดใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งที่ประชุมได้รับพิจารณาที่จะเพิ่มพื้นที่ให้ เช่น ในจังหวัด ภาคกลางตอนบนหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยและมันสำปะหลังจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เห็นด้วย เพราะหากขยายพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนออกไปได้ ไม่ได้มีเพียงคลัสเตอร์ปิโตรเคมี จะลงทุนเท่านั้น แต่ยังมีคลัสเตอร์อื่นๆ ที่พร้อมจะไปลงทุนด้วย ซึ่งที่ประชุมก็มอหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น บีโอไอ รับไปพิจารณา พร้อมทั้ง เร่งรัดมาตรการในการสร้างตลาดของอุตสาหกรรมชีวภาพให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมใช้ไบโอพลาสติก ที่จะนำมาตรการดานภาษีมาใช้ สำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์มาหักลดค่าใช้จ่ายได้ 300 % ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมสรรพากร ได้แจ้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด และจะต้องหาหน่วยงานกำกับดูแลสินค้า เพื่อมาพิสูจน์ว่าเป็นไบโอพลาสติกหรือไม่ ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้มีการทบทวนกฎระเบียบในการปล่อยมลพิษนั้น ได้มีการมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่คาดว่าในเร็วๆ นี้ น่าจะได้ข้อยุติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559