วันหยุดยาว การทำตลาดเข้มข้นหนุนคนไทยเที่ยวนอกครึ่งแรกของปี... คาดภาพรวมตลาดตลอดทั้งปี’59 ยังขยายตัว

29 เม.ย. 2559 | 10:10 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “วันหยุดยาว การทำตลาดเข้มข้นหนุนคนไทยเที่ยวนอกครึ่งแรกของปี...  คาดภาพรวมตลาดตลอดทั้งปี’59 ยังขยายตัว”

ประเด็นสำคัญ

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศในปี 2559 น่าจะยังขยายตัว ด้วบรรยากาศของตลาดเติบโตเป็นบวกตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับซีซั่นการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว อีกทั้งการทำการตลาดที่เข้มข้นของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่อง

•สำหรับภาพรวมในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 7.4 ล้านคน หรือเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.0 โดยปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น โดยคาดว่าในปีนี้จะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวน 8.5-9.0 แสนคน ส่วนประเทศในอาเซียนเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่ารุกเพิ่มเติม ด้วยเป็นปลายทางที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่

•จากการขยายตัวของตลาด จึงดึงดูดให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาจับตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงภาวะการแข่งขัน ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสายการบิน สถาบันการเงิน/บัตรเครดิต เป็นต้น ควรต้องปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพื่อคงระดับ/เพิ่มมาร์จิ้นของธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ยังคงเติบโต ซึ่งสัญญาณการขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากสถิติในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2559 ที่พบว่า จำนวนคนไทย  เดินทางออกนอกประเทศผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 YoY หรือมีจำนวนประมาณ 8.29 แสนคน ประกอบกับซีซั่นการเดินทางท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่คึกคักในช่วงเทศกาล (ปีใหม่/ สงกรานต์) และวันหยุดยาวในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการปิดเทอมภาคฤดูร้อน

นอกจากนี้ ปัจจัยแวดล้อมเรื่องการทำการตลาดด้านราคาของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ทำให้พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไป ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยอ้อม เช่น โปรโมชั่นผ่อนชำระค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน/ แพ็คเกจทัวร์ ซึ่งมีผลเชิงจิตวิทยาต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้คนไทยยังมีแผนการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคนไทยบางกลุ่มเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศจำนวนหลายทริปต่อปีไม่ว่าจะเป็นการไปพักผ่อนกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน การอบรมสัมมนา และการติดต่อธุรกิจ

คาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศปี 2559 จำนวน 7.4 ล้านคน เติบโตร้อยละ 6.0

จากการรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของไทยและต่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนไทยที่ส่วนใหญ่เลือกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาล/วันหยุดยาว โดยแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมยังคงเป็นภูมิภาคเอเชีย ด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการเดินทางไปยังปลายทางระยะไกล ไม่ต้องใช้เวลานานสำหรับการวางแผนการเดินทาง อีกทั้งความสะดวกเรื่องวีซ่าเข้าประเทศที่ในปัจจุบันคนไทยสามารถเดินทางไปยังหลายประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า เช่น ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

“อาเซียน” เป็นปลายทางที่ในปีนี้คนไทยน่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากการเป็นปลายทางท่องเที่ยวที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย ทำให้สามารถเลือกรูปแบบการเดินทางได้หลากหลายไม่ว่าจะทางรถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน อีกทั้งไม่ต้องใช้เวลานานสำหรับการวางแผนการเดินทาง ซึ่งสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยเที่ยวต่างประเทศได้หลายกลุ่ม โดยอิทธิพลของสื่อทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในอาเซียนได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ระบบขนส่งภายในพื้นที่และสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา) ยังมีข้อจำกัด เช่น บริการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ระบบไฟฟ้าน้ำประปา เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางเชื่อมโยงประเทศในอาเซียน หรือ ASEAN Connect น่าจะก่อให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทยให้หันมานำเสนอขายแพ็คเกจทัวร์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าชาวไทย (โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่) และชาวต่างชาติที่ในปัจจุบันมีความสนใจในภูมิภาคอาเซียน โดยการเสนอขายผลิตภัณฑ์/บริการที่เกี่ยวกับอาเซียนนั้นอาจจะทำให้ธุรกิจได้รับมาร์จิ้นสูงกว่าบางปลายทาง

“ญี่ปุ่น” ปลายทางท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทย สถานการณ์คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสถิติในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ตลาดคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเติบโตที่ร้อยละ 22.5 YoY หรือมีจำนวน 2.22 แสนคน โดยในเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนเกือบ 1 แสนคน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากคนไทยกลุ่มครอบครัวที่พาบุตรหลานไปท่องเที่ยวในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน และกลุ่มคนไทยที่ชื่นชอบเทศกาลชมดอกซากุระในช่วงดังกล่าว  สำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ตอนใต้ของญี่ปุ่น น่าจะกระทบความเชื่อมั่นในหมู่คนไทยเพียงช่วงสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ปลายทางที่คนไทยนิยมเดินทางไปส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตอนกลาง-บนของญี่ปุ่น เช่น โตเกียว โอซาก้า ฮอกไกโด เป็นต้น

ราคาแพ็คเกจทัวร์ลด...ดึงดูดคนไทยเที่ยวยุโรปเพิ่ม แหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคยุโรปเป็นอีกหนึ่งปลายทางที่คนไทยนิยม เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมาการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน (เช่น โปรโมชั่นด้านราคา ธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของยุโรปขยายเส้นทางการบินมายังประเทศไทย เป็นต้น) ทำให้ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินมีให้เลือกหลายระดับราคา จึงช่วยดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และมีส่วนให้ราคาแพ็คเกจทัวร์ยุโรปในปัจจุบันลดลงจากระดับราคาหลักแสนบาทในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สถานการณ์การทำตลาดท่องเที่ยวยุโรปน่าจะทวีความเข้มข้น ด้วยเรื่องราคาที่ลดลงกว่าช่วงก่อนหน้า ช่วยดึงดูดลูกค้าคนไทยทั้งกลุ่มเดินทางไปท่องเที่ยวครั้งแรกและกลุ่มท่องเที่ยวซ้ำ จึงมองว่า ตลาดคนไทยเที่ยวยุโรปในปีนี้น่าจะขยายตัว

จากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559  จะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 7.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ซึ่งชะลอลงจากปี 2558 (ที่เติบโตประมาณร้อยละ 8.4) และ“ญี่ปุ่น” ยังคงครองแชมป์ปลายทางยอดนิยม โดยในปีนี้จะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวน 8.5-9.0 แสนคน สำหรับปลายทางในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.5 ล้านคน โดยมาเลเซียสปป.ลาว และสิงคโปร์น่าจะยังได้รับความสนใจจากคนไทย

อย่างไรก็ดี ในภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (สถานการณ์การก่อการร้ายในต่างประเทศ) ภัยธรรมชาติที่อาจจะกระทบต่อบรรยากาศและแผนการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

ธุรกิจทัวร์ปรับตัวรับการขยายตัวของตลาดคนไทยเที่ยวนอกปี 2559

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่สะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศปลายทาง แต่เม็ดเงินอีกส่วนก็ยังสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย อาทิ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจแทรเวลเอเจนซี่ (เช่น ตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบินและที่พัก) ธุรกิจสายการบินของไทย สถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัย เป็นต้น

ขณะที่ ในปัจจุบันตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีจำนวนเพิ่มขึ้น และทำให้ภาวะการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้น จึงส่งผลให้เห็นการปรับตัวของธุรกิจทัวร์ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจำนวนไม่กี่สิบราย โดยลักษณะการดำเนินธุรกิจทัวร์นั้น ผู้เล่นทั้งรายเล็กรายใหญ่มีการทำการตลาดร่วมกัน ทำให้แพ็คเกจทัวร์หรือบริการที่เกี่ยวข้องถูกนำเสนอขายผ่านหลายช่องทาง (เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจแทรเวลเอเจนซี่ สถาบันการเงิน/บัตรเครดิต เป็นต้น) ซึ่งอาจทำให้มาร์จิ้นของผู้ประกอบการบางรายลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการให้บริการของธุรกิจและการปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจทัวร์ของไทย

สำหรับธุรกิจทัวร์มีการปรับการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่ในปี 2559 คนไทยน่าจะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยตนเองประมาณร้อยละ 75 ของคนไทยทั้งหมดที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ (ทั้งกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศโดยไม่ได้ซื้อแพ็คเกจทัวร์เต็มรูปแบบและกลุ่มที่ซื้อแพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยวอิสระ) โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดคนไทยกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยมีหลายปัจจัยเกื้อหนุน เช่น ความสะดวกสบายในการเดินทางท่องเที่ยว ความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ การใช้แอพลิเคชั่นนำทาง เป็นต้น แต่ธุรกิจทัวร์ยังมีโอกาสสร้างรายได้จากบริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น การขายเฉพาะรายการ อย่างตั๋วโดยสารเครื่องบิน ห้องพัก บริการวีซ่า ตั๋วรถไฟ บัตรเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว บัตรเครื่องเล่นสวนสนุก ซิมโทรศัพท์ บริการ Pocket WiFi เป็นต้น

ขณะที่ ตลาดคนไทยซื้อแพ็คเกจทัวร์เต็มรูปแบบสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 ของจำนวนคนไทยทั้งหมดที่เที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งตลาดคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรก มีข้อจำกัดด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และตลาดเฉพาะกลุ่ม อย่างกลุ่มศึกษา

ดูงานของสถาบันการศึกษา กลุ่มลูกค้าระดับบนที่ต้องการแพ็คเกจทัวร์แบบส่วนตัว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดกล่มุนี้สร้างโอกาสให้ธุรกิจทัวร์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อเพิ่มมาร์จิ้น แต่คงต้องให้ความสำคัญเรื่องรูปแบบและคุณภาพของการบริการให้ตอบโจทย์ความคาดหวังของตลาดกลุ่มนี้ เช่น อาจจะหันมาเพิ่มแพ็คเกจทัวร์จากไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน นอกจากนี้  ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ที่มีความพร้อมควรหันมาทำตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยินดีที่จะจ่ายสำหรับบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น กรุ๊ปทัวร์ฮาลาล กรุ๊ปทัวร์เกี่ยวกับกีฬา เช่น ทัวร์แฟนกีฬา เป็นต้น