รีดภาษีน้ำหวานป่วนหนัก! ตลาดเครื่องดื่ม 2 แสนล้านบาทลุ้นระทึก จ่อขึ้นราคา

02 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
รีดภาษีน้ำหวานป่วนตลาดเครื่องดื่ม 2 แสนล้าน แบรนด์ดังปรับแผนสนองนโยบายภาครัฐ “มาลี” ชี้ไม่กระทบ เหตุสินค้ากว่า 60% เน้นเฮ้ลท์ตี้ ขณะที่ชาเขียวเจ็บหนักโดนเต็มๆ แย้มเตรียมประชุมถกโครงสร้างราคา ฟากยักษ์ใหญ่น้ำอัดลมได้ทีปรับขึ้นราคา อ้างต้นทุนพุ่ง ขณะที่เจ้าพ่อขาเชียว “อิชิตัน” พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ต้องเท่าเทียมทั้งรายใหญ่เล็ก รุกปรับสูตรลดน้ำตาลรับตลาด

นายพรชัย ชูสงวน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการตลาด บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพแบรนด์ “มาลี” และ “มาลี เฮลติพลัส” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่ภาครัฐมีมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเครื่องดื่ม ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนดออกมานั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มบ้างในช่วงแรกทั้งในแง่ของโครงสร้างราคาและต้นทุน แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการในตลาดจะสามารถปรับตัวทั้งด้านผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการขายอย่างแน่นอน เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเครื่องดื่มมีการสวิสชิ่งกันไปมาตลอดเวลา กอปรกับการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในตลาด เพราะที่ผ่านมาเคยมีกระแสการปรับขึ้นภาษีในตลาดน้ำดำมาแล้วทุกฝ่ายก็สามารถผ่านมาได้

ขณะที่ในส่วนของการปรับกลยุทธ์ในตัวสินค้า ประเมินว่าผู้เล่นหลักจะหันมาพัฒนาสินค้าเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับกระแสสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้เชื่อว่าจะมีการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการรองรับการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงแล้ว ยังเป็นการรองรับเทรนด์การดูแลสุขภาพที่มาแรงในปัจจุบันด้วย

สำหรับในส่วนของบริษัทอยู่ระหว่างการรอผลการปรับขึ้นภาษีว่า จะกระทบโครงสร้างราคามากน้อยแค่ไหนก่อนที่จะมีการปรับแผนงานอีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มสินค้าที่กระทบของบริษัทมีเพียงกลุ่มน้ำผลไม้ 40% และ 25% เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยอดขายหลักของบริษัทมาจากกลุ่มน้ำผักผลไม้แท้ 100% หรือสินค้าในกลุ่มเพื่อสุขภาพมากกว่า 60%

“น้ำผักผลไม้ของบริษัทเรามีสัดส่วนยอดขายมาจากสินค้าหลักคือกลุ่มน้ำผลไม้แท้ 100% ซึ่งการปรับภาษีน้ำหวานในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก แต่ตลาดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงจะเป็นตลาดชาเขียว และน้ำอัดลม ซึ่งผู้เล่นแต่ละรายจะต้องมีการปรับกลยุทธ์กันอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตามแนวโน้มในตลาดเครื่องดื่มนับจากนี้ เทรนด์การเติบโตน้ำมะพร้าวดื่มจะมาแรง เนื่องจากปีที่ผ่านมาน้ำมะพร้าว ถือเป็นกลุ่มที่เข้ามาสร้างการเติบโตให้กับตลาด จากกระแสการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสนใจ เปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวออกมารองรับตลาดมากขึ้น โดยเชื่อว่าหลังจากที่มีการปรับขึ้นภาษีน้ำหวานกลุ่มน้ำมะพร้าวคือ ผลิตภัณฑ์แรกที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจในการทำตลาด ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเองหลังจากที่เปิดตัวน้ำมะพร้าวในช่วงที่ผ่านมาสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้เกือบ 70% และจะมีการรุกตลาดในส่วนของน้ำมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงจากค่ายน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ระบุว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาต้นทุนและกระทบไปยังโครงสร้างราคาขายโดยรวมอย่างแน่นอน เบื้องต้นบริษัทอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนจากหลายฝ่าย หลังจากนั้นจึงจะมีการหารือภายในบริษัทเพื่อหาทางแก้ไขและปรับแผนงานอย่างแน่นอน โดยคาดว่าน่าจะมีการประชุมได้ในสัปดาห์หน้า

ก่อนหน้านี้นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน น้ำผลไม้ไบเล่ และเย็น เย็น ได้แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการดังกล่าวว่า หากเป็นนโยบายของรัฐผู้ประกอบการก็พร้อมจะทำตาม แต่ควรดำเนินการให้เป็นธรรม คือเก็บภาษีทุกเซ็กเม้นต์ให้ครบถ้วน ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ สำหรับบริษัทเองจะดำเนินการปรับใน 2 ส่วนคือ การลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม และการปรับราคาสินค้า แต่อาจจะต้องมาพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ว่าควรจะปรับอย่างไรให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตามสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้มีมติเสนอให้รัฐบาลปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้โดยจัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาลคือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20%ของราคาขายปลีกและปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25%ของราคาขายปลีก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559