เสื้อผ้าผู้ชายโตสวนกระแสเศรษฐกิจ แม้ตลาดแข่งดุ/นักท่องเที่ยวช็อปช่วยกระตุ้นยอด

01 พ.ค. 2559 | 09:00 น.
ตลาดเสื้อผ้าผู้ชายโต 5% สวนกระแสเศรษฐกิจ ค่ายไอ.ซี.ซี.ชี้นักท่องเที่ยวตัวช่วยกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะสินค้านำเข้า ขณะที่ภาวะตลาดยังแข่งเดือด กลุ่มฟาสต์แฟชั่นเบียดชิงมาร์เก็ตแชร์ ฟากกลุ่มไมเนอร์ฯ เดินกลยุทธ์นำเข้าสินค้าใหม่ต่อเนื่อง ล่าสุดส่งแบรนด์บรูคส์ บราเธอร์สลงสนาม หวังปั้นพอร์ตสินค้าไลฟ์สไตล์ทะลุหมื่นล้านในปี 2562

นายสุชาติ ลายลักษณ์ศิริ รองผู้อำนวยการฝ่าย บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น ในเครือสหพัฒน์ อาทิ แฮสซีส (HAZZYS) แด๊กซ์ (Daks) และลาคอส (LACOSTE) เป็นต้น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดเสื้อผ้าผู้ชายยังมีโอกาสเติบโตได้แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว คาดว่าภาพรวมของตลาดจะเติบโตได้ในอัตรา 5% โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีจุดจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้ากลางเมือง เนื่องจากมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้ามีกลยุทธ์ในการดึงให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่าย แต่หากเป็นสินค้าไลเซนส์แบรนด์ที่ผลิตภายในประเทศ จะมีปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นให้ยอดขายเติบโตได้เช่นเดียวกับแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจกับจุดจำหน่ายที่อยู่ตามต่างจังหวัด

“แบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ จะมีพื้นที่ขายจำกัดอยู่เฉพาะในย่านใจกลางเมือง ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญเป็นชาวต่างชาติ ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจจะฝืด แต่มีปัจจัยบวกจากเรื่องภาวะท่องเที่ยวทำให้แบรนด์เหล่านั้นยังคงรักษาการเติบโตได้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศเปิดใหม่ อาทิ เมียนมา สปป.ลาว รวมถึงชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงได้เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศ เพราะราคาถูกกว่าที่วางจำหน่ายในประเทศของเขา และห้างสรรพสินค้าในเมืองยังมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดขายทำให้สินค้าของผู้ชายยังเติบโตได้ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าผู้ชายจะตัดสินใจง่ายกว่าผู้หญิง และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสแฟชั่นมากเท่ากับกลุ่มผู้หญิง”

อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันของแบรนด์สินค้าต่างๆ ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งสินค้าในกลุ่มเดียวกันและการเข้ามาทำตลาดของกลุ่มสินค้าฟาสต์แฟชั่น ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดถูกแชร์ออกไป ขณะที่พื้นที่ขายในห้างซึ่งมีปริมาณจำกัด ห้างสรรพสินค้าจึงต้องบริหารพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาคัดเลือกแบรนด์ที่ทำยอดขายต่อพื้นที่ได้คุ้มค่า ทำให้แต่ละปีมีแบรนด์สินค้าที่ต้องออกไปจากพื้นที่ขายในห้าง 5-6 แบรนด์ โดยเฉพาะแบรนด์ที่ไม่แข็งแกร่งหรือไม่เป็นที่รู้จักมากนัก รวมถึงแบรนด์ที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง และจะมีแบรนด์ชั้นนำเข้ามาจำหน่ายแทน

ด้านนายเจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นนำเข้าจากต่างประเทศ กล่าวว่า ได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจไว้ 3 แนวทาง คือ 1. เน้นการทำตลาดแบรนด์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เติบโต 2. การหาสินค้าแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาด และ3. การเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ซึ่งในปีนี้ได้วางแผนนำเข้าสินค้าใหม่มาทำตลาดรวม 4 แบรนด์ ได้แก่ เสื้อผ้าแบรนด์บรูคส์ บราเธอร์ส (Brooks Brothers) จากประเทศสหรัฐอเมริกา 2. ชุดชั้นในสตรีแบรนด์อีแตม (Etam) จากประเทศฝรั่งเศส 3. ร้านขายของเล่นแฮมเลยส์ (Hamleys) และ 4. เสื้อผ้ายีนส์โคจิมะ เดนิม จากประเทศญี่ปุ่น

“ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์กว่า 20 ราย ทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว และของเล่นต่างๆ ตั้งแต่ระดับขายในไฮเปอร์มาร์เก็ตจนถึงไฮเอนด์ เพื่อสร้างพอร์ตของบริษัทให้มีความหลากหลายและเป็นไลฟ์สไตล์ ซึ่งหากมีพอร์ตสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้มีอำนาจการต่อรองกับพื้นที่เช่าหรือจุดขายต่างๆ ได้ รวมถึงสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ปรับลดแบรนด์ที่ไม่สร้างการเติบโตหรือหมดสัญญาทำการตลาดออกไปด้วย ซึ่งปีนี้มี 2 แบรนด์ที่จะเลิกการทำตลาด ได้แก่ กระเป๋าแบรนด์ทูมิ และเครื่องสำอางเรดเอิร์ธ หลังจากได้ทำตลาดมานานกว่า 15 ปี แต่ไม่สามารถทำยอดขายได้ถึง 200 ล้านบาท”

ปัจจุบันบริษัทมีแบนด์สินค้าแฟชั่นมากกว่า 14 แบรนด์ ซึ่งแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุด ได้แก่ ชาร์ลส์ แอนด์ คีธ (Charles & Keith) เอสปรี (Esprit) และ แกป (GAP) โดยผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโต 10% ทั้งจากยอดขายจากสาขาใหม่ และยอดขายจากสาขาเดิมที่มีอัตราการเติบโต ราว 7-8% ซึ่งผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมากลุ่มแฟชั่นมียอดขายประมาณ 3 พันล้านบาท เติบโตจากปี 2557 ประมาณ 14% ขณะที่แผนในระยะ 5 ปี หรือภายในปี 2562 ตั้งเป้าหมายยอดขาย 1 หมื่นล้านบาท สำหรับปีนี้ตั้งงบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ลงทุนไม่ถึง 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจและทำตลาดในกลุ่มสินค้าแฟชั่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559