ฐิติกรเตรียมเปิดแผนรุกหวังเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสองล้อ

03 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
ฐิติกร ประกาศเป้าหมายเพิ่มพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปี 59 คาดเติบโต 5% พร้อมเดินหน้าบุกตลาดเออีซี ด้วยการขยายสาขาเพิ่มในกัมพูชา

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2559 อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงติดลบประมาณ 12% ส่วนจักรยานยนต์ 5% ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบคือหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ,ภัยแล้ง ,ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยบริษัทประเมินว่าตลาดรถยนต์ในปีนี้อาจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ในส่วนของรถจักรยานยนต์น่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

สำหรับมูลค่าสินเชื่อในตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2559 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มีจำนวน 6หมื่นล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นของพอร์ทสินเชื่อ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 5%

"ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เรามีการปรับหนี้สูญเพื่อคัดกรองคุณภาพลูกหนี้ ทำให้ผลการดำเนินงานในแง่ของพอร์ตเช่าซื้ออาจจะลดลง อย่างไรก็ตามหลังจากมีความเข้มงวดมากขึ้น คุณภาพหนี้หรือการค้างชำระของลูกค้าถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และในปีนี้เราก็ตั้งเป้าที่จะมียอดสินเชื่อใหม่ๆ เข้ามา แต่ในแง่ของรายได้อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในปี 2558 มีรายได้ 3,394 ล้านบาท และในปี 2557 มีรายได้ 3,679 ล้านบาท"

ด้านนางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าแม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว อันเป็นผลมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และส่งออกลดลงติดต่อกัน 3 ปี ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักยานยนต์ลดลงประมาณ 2% แต่ในปี 2558 บริษัทกลับมากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 100% หรือประมาณ 408 ล้านบาท

"แม้เศรษฐกิจอาจจะโตไม่มาก แต่คู่แข่งของเราในตอนนี้เริ่มมีการถอย เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อออกไปเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา แต่สำหรับบริษัทเรามีการระมัดระวังและคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่ออย่างมากในช่วง 2-3ปี จนตอนนี้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งทิศทางที่เกิดขึ้นทำให้เราเริ่มมั่นใจที่จะรุกตลาดเพิ่มขึ้นในปีนี้"

สำหรับแผนงานในปีนี้จะมีการนำเสนอสินเชื่อรูปแบบต่างๆ และจะมีการขยายเครือข่ายการให้บริการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีจำนวน 92 แห่งใน 54จังหวัด คาดว่าจะเพิ่มอีก 4 – 5 สาขา

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ จากเดิมที่มี 2 แห่ง ได้แก่ ลาว และ กัมพูชา ก็จะมีการเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งที่กัมพูชา ส่งผลให้สาขาที่ให้บริการ ณ ต่างประเทศมีจำนวนรวม 4 แห่งใน 2 ประเทศคือลาว และกัมพูชา ซึ่งตามแผนงานที่ได้วางไว้นั้นจะมีการขยายเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการเปิดเออีซี ซึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีจำนวนประชากรที่มีอยู่จำนวนมาก และในประเทศต่างๆ เหล่านั้นถือว่ามีคู่แข่งขันน้อย ทำให้โอกาสการเติบโตมีสูง

"สาขาในต่างประเทศถือเป็นความตั้งใจที่เราจะไป และจะเพิ่มเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการศึกษารายละเอียดกฎหมาย เงื่อนไขต่างๆ อย่างละเอียด โดยประเทศที่สนใจและกำลังศึกษาอยู่ในตอนนี้คือ เวียดนามและเมียนมา"

photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559