ตลาดเหล็กจีนราคายังร้อนแรง ซื้อขายล่วงหน้าพุ่งทุบสถิติแต่ปริมาณยังล้นตลาด

29 เม.ย. 2559 | 14:00 น.
ราคาเหล็กกล้าและแร่เหล็กในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของจีนปรับตัวลดลงอีกครั้งในต้นสัปดาห์นี้ หลังพุ่งทะยานทำสถิติเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยหลากปัจจัยภายในประเทศ นักวิเคราะห์ชี้ ถึงแม้รัฐบาลจีนจะประกาศแผนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหากำลังผลิตล้นเกิน แต่ปริมาณเหล็กส่วนเกินในตลาดจะยังลดไม่มากเพราะความต้องการใช้ในประเทศยังแผ่ว

ราคาเหล็กเสริม (หรือรีบาร์) ซื้อขายล่วงหน้าในตลาดเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Futures Exchange) ลดลง 0.3% เมื่อต้นสัปดาห์(25 เมษายน) หลังจากที่ปรับขึ้นสูงถึง 7.4% ภายในวันเดียวเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 เม.ย.) ขณะที่ราคาแร่เหล็กซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้าเหลียน (Dalian Commodities Exchange) ปรับลดลง 0.7% หลังจากพุ่งขึ้นไป 16% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนของจีนมีการลงทุนในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์อย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะซื้อขายในตลาดหุ้นที่ยังคงอ่อนแรงทำให้นักลงทุนมองตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นแหล่งลงทุนทางเลือก นอกจากนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาในระยะหลังๆ รวมถึงการฟื้นตัวของตลาดบ้านและที่ดิน เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า แม้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าทำการซื้อขาย แต่ราคาและกิจกรรมการซื้อที่เพิ่มขึ้นในตลาดเหล่านี้ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์นอกประเทศจีนด้วย เพราะนักลงทุนต่างชาติจับตามองความเคลื่อนไหวในตลาดจีนในเชิงสัญญาณเตือนโดยเฉพาะเมื่อราคาซื้อขายในตลาดจีนทะยานสูงขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อราคาแร่เหล็กในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของจีนขยับสูงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นก็ทำให้ราคาซื้อขายหน้าโรงงานปรับสูงทำลายสถิติในช่วงเวลาเดียวกันโดยขยับสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน (สถิติจาก The Steel Index) อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า การขยับราคาสูงขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายในตลาดจีนนั้นสูงเกินจริงที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีเงินสดในระบบเศรษฐกิจมากทำให้มีการนำมาลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในช่วงนี้

ราคาเหล็กกล้าและแร่เหล็กที่พุ่งสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้และต้าเหลียนปรับเพิ่มเงื่อนไขเพื่อยับยั้งไม่ให้ราคาพุ่งสูงจนเกินไป โดยหลังจากที่ปริมาณซื้อขายล่วงหน้าเหล็กเสริม ทะยานเกิน 6 แสนล้านหยวน หรือกว่า 9.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปริมาณสูงมากเป็นประวัติการณ์ ทั้ง 2ตลาดก็ได้กำหนดให้นักลงทุนต้องวางเงินล่วงหน้าเป็นหลักประกัน (margin deposit) จำนวนมากขึ้นสำหรับการซื้อขายแร่เหล็ก แผ่นเหล็กรีดร้อน และเหล็กเสริม

รายงานข่าวระบุว่า โดยภาพรวมแล้ว ราคาเหล็กกล้าของจีนในปีนี้ ขยับขึ้นไปแล้วมากกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาแร่เหล็กปรับสูงขึ้น 52% ทั้งนี้ ตลาดจีนมักจะมีปริมาณซื้อขายเหล็กกล้าพุ่งทะยานในเดือนมีนาคมและเมษายนเนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะหวนกลับมาเดินเครื่องการผลิตอย่างเต็มกำลังอีกครั้งหลังเทศกาลวันหยุดตรุษจีน

ในปีนี้ ราคาเหล็กกล้าในจีนขยับสูงมากโดยได้แรงหนุนจากการที่ปริมาณเหล็กกล้าในตลาดปรับลดลงหลังมีการปิดสายการผลิตของโรงงานเหล็กหลายแห่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรตติ้งส์ระบุว่า การยุติสายการผลิตในช่วงเวลานั้นทำให้กำลังการผลิตเหล็กกล้าหายไปจากตลาดประมาณ 60 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาเหล็กเริ่มมีทิศทางขยับสูงขึ้น หลายโรงงานก็เริ่มเดินเครื่องการผลิตอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจจะมีผลหยุดทิศทางการขยับขึ้นของราคาในเร็วๆ นี้

จี่หมิง โซ นักวิเคราะห์อาวุโสประจำนครเซี่ยงไฮ้ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสฯ ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของจีนยังคงพยายามแก้ไขปัญหาปริมาณผลิตล้นเกินอันเป็นผลพวงมาจากการที่เศรษฐกิจที่เคยขยายตัวอย่างร้อนแรงได้ชะลอตัวลง ในปี 2558 ประเทศจีนผลิตเหล็กกล้าประมาณ 800 ล้านตันขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านตัน "ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า คาดว่ากำลังการผลิตเหล็กกล้าของจีนจะลดลงในอัตราเฉลี่ยปีละ 2-3% แต่ความต้องการใช้เหล็กกล้าภายในประเทศยังคงอ่อนแรง ทำให้เชื่อว่า ปริมาณเหล็กส่วนเกินในตลาดจีนจะลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่มากนัก" นักวิเคราะห์อาวุโสของมูดี้ส์กล่าว

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหากำลังผลิตล้นเกิน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กกล้า โดยหนึ่งในมาตรการปฏิรูปได้แก่ การควบคุมสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับตัวของอุตสาหกรรมต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล ในบรรดาสายการผลิตเหล็กกล้าของโรงงานที่ระงับการผลิตไปเมื่อปีที่ผ่านมานั้น มีเพียงประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นที่เป็นการปิดถาวร และเท่าที่ผ่านมา จีนก็หันมาระบายผลผลิตส่วนเกินด้วยการส่งออกเหล็กกล้าไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศคู่ค้า เช่น อินเดียและสหรัฐอเมริกา พากันตั้งรับผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าจากจีนด้วยการตั้งกำแพงภาษีอัตราสูงเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559