บีเอ็มดับเบิลยู ส่งออก X3, X5 ไปจีน ชูฐานการผลิตไทยสู่ฮับโลก

28 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง ลงทุนเพิ่มกว่า 488 ล้านบาท ขยายขีดความสามารถในการผลิตของโรงงานในประเทศเพื่อรองรับตลาดทั่วโลก ประเดิมส่ง X3 และ X5 ไปจีนเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าทั้งปีส่งออกกว่า 1 หมื่นคัน พร้อมประกาศจัดตั้งแผนกจัดหาชิ้นส่วนเพื่อป้อนโรงงานบีเอ็มทั่วโลก

นาย เจฟฟรีย์ กอดิอาโน กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย โรงงานประกอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนกว่า 1.1 พันล้านบาทในการขยายขีดความสามารถในการผลิตของโรงงานประกอบในไทย ที่จังหวัดระยอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตรถยนต์ไปยังตลาดประเทศที่ได้เริ่มขึ้นในปีนี้ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มการลงทุนอีก 488 ล้านบาท ในการปรับกระบวนการผลิตให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

โดยเบื้องต้นบีเอ็มดับเบิลยูได้ทำประกอบและส่งออกรถยนต์ 2 รุ่นได้แก่ X3 และ X5 ไปยังประเทศจีน ซึ่งในล็อตแรกที่ส่งไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 160 คัน และล็อตต่อไปในเดือนพฤษภาคมจะส่งออกเพิ่มเป็น 350 คันภาย ขณะที่เป้าหมายการส่งออกของปีนี้ได้วางไว้ที่ 1 หมื่นคัน ส่วนมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู ก็มีการผลิตและส่งออกไปยังประเทศจีน และ มาเลเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกในปีนี้จำนวน 1 พันคัน

"ถือเป็นครั้งแรกที่เราผลิตและส่งออกรถบีเอ็มดับเบิลยูจากฐานผลิตในไทย โดยตลาดที่เราจะเข้าไปเจาะเป็นครั้งแรกคือจีน เนื่องจากมีความต้องการรถทั้ง 2 รุ่นนี้สูงมาก และไม่มีการประกอบรถรุ่นนี้ในจีน ดังนั้นจึงมีการพูดคุยกับบริษัทแม่และดูว่าประเทศไหนที่มีความพร้อมที่จะซัพพอร์ตความต้องการตรงนี้ ซึ่งคำตอบก็คือประเทศไทย เพราะได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งและการขนส่ง"

นายเจฟฟรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของฐานประกอบในไทยคือ มีการประกอบรถรุ่นนี้อยู่แล้ว ประการต่อมาคือมีความยืดหยุ่นในไลน์การผลิตสูง เพราะผลิตทั้งรถบีเอ็มดับเบิลยู ,มินิ และมอเตอร์ไซค์ ประกอบกับแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ มีทักษะการประกอบที่ดี ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้โรงงานในไทยได้รับการคัดเลือกให้ประกอบและเป็นเสมือนฮับของบีเอ็มดับเบิลยู

ปัจจุบันโรงงานบีเอ็มดับเบิลยูมีกำลังการผลิตแบ่งออกเป็นรถยนต์ 2 หมื่นคัน ,มอเตอร์ไซค์ 1 หมื่นคัน โดยประกอบรถทั้งหมด 19 รุ่น เป็นรถยนต์ 10 รุ่น และจักรยานยนต์ 9 รุ่น โดยกำลังการผลิตทั้งหมดจะป้อนตลาดในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70 % ซึ่งในปี 2558 โรงงานมีการผลิตรวม 1.2 หมื่นคัน แบ่งออกเป็น รถยนต์ 9 พันคัน และมอเตอร์ไซค์ 2 พันคัน ส่วนเป้าหมายการผลิตในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คาดว่ารถยนต์จะผลิตเพิ่มเป็น 1 หมื่นคัน

"เรามีการเตรียมการประมาณ 8 เดือน ตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรกไปจนถึงการส่งออก ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก และเราได้ประเมินว่าความต้องการในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆและในปีหน้าเรามีแผนการที่จะส่งออกในจำนวนที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงไลน์ประกอบรถรุ่นใหม่ก็จะได้เห็น ซึ่งเบื้องต้นตามแผนงานที่วางไว้เราจะประกอบรถในรุ่น X5 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด เพื่อป้อนตลาดในประเทศก่อน"

นายเจฟฟรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการส่งออกรถไปยังจีนและมาเลเซียแล้ว ในปีนี้ยังได้จัดตั้งแผนกจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนเพื่อป้อนโรงงานบีเอ็มดับเบิลยูโดยเฉพาะในแถบอาเซียนที่ยังไม่มีแผนกดังกล่าว ซึ่งสาเหตุที่เลือกไทยเพราะมีความได้เหมาะสม ประกอบกับไทยมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพรองรับและมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุน "บีเอ็มดับเบิลยู มีโรงงานกระจายอยู่ 30 แห่งทั่วโลกใน 14 ประเทศทั่วโลก และในอาเซียนไทยถือว่ามีความเหมาะสมเพราะมีความแข็งแกร่งด้านฐานการผลิตอยู่แล้ว และอนาคตข้างหน้าเราก็ได้มีการประเมินว่าความต้องการชิ้นส่วนจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะตั้งสำนักงานจัดหาชิ้นส่วนเหล่านี้เพื่อกระจายไปทั่วโลก"

อนึ่ง ก่อนหน้านั้นบีเอ็มดับเบิลยู เพิ่งจะทำการเปิดอะไหล่แห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 1.4 หมื่นตารางเมตรภายในโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน ถนนบางนา-ตราด กม. 23 โดยลงทุนกว่า 220 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการด้านโลจิสติกส์ให้พร้อมรองรับความต้องการด้านบริการของลูกค้าทั้งในรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559