2ขั้วการเมืองระเบิดศึก รับพ.ร.บ.ประชามติบังคับใช้

28 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ถึง 48 ชั่วโมง ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ตั้งโต๊ะแถลงจุดยืนพร้อมประกาศท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เห็นต่าง

เริ่มจาก 2 ขั้วทางการเมือง ตั้งโต๊ะเปิดศึกชิงพื้นที่ข่าวในวันเดียวกัน (24 เมษายน) เวทีแรกเกิดขึ้นที่ อาคารทู แปซิฟิก เพลส สุขุมวิท นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิกลุ่มมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) นับเป็นการประกาศท่าทีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกลุ่ม กปปส.ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อสังคม

ช่วงหนึ่งนายสุเทพ สะท้อนความเห็นส่วนตัวว่า ชอบร่างรธน.ฉบับนี้เป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่คำปรารภที่เขียนได้ถูกใจมาก เพราะแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของคนไทยทั้งประเทศ ยืนยันให้ประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มองว่า คำปรารภดังกล่าวนั้นเป็นการยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองไทย ที่มีปัญหาเกิดจากคนไม่เคารพกติกา ยึดหลักเฉพาะเปลือกผิวไม่เอาแก่นแท้ไปปฏิบัติ บิดเบือนการใช้อำนาจ มองว่า ร่างรธน.ฉบับนี้กำหนดเป้าหมายชัดเจนเพื่อแก้วิกฤติ และพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนเพื่อประชาชน

ทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดของ กปปส.ที่เคยเสนอให้ปฏิรูปประเทศใน 5 ด้าน ทั้งเรื่องการเมือง ระบบราชการ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ และการปฏิรูปตำรวจ ทั้งยังได้เขียนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดทิศทางการปฏิรูปที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และระบุชัดว่าต้องปฏิรูปภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

เส้นขนานกับความเห็นของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งตั้งโต๊ะแถลงที่อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เปิดฉากว่า ใช้สิทธิแถลงเช่นเดียวกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งที่ผ่านมาได้ร้องขอมาตลอดแต่ไม่เคยได้รับสิทธิ ก่อนตั้งข้อสังเกตหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติต่อข้อกฎหมายการทำประชามติ โดยเฉพาะในมาตรา 61 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วรรคท้ายที่ระบุว่า

"..ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ มุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2แสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี เป็นการเขียนกฎหมายที่ครอบจักรวาล ไม่มีมาตรวัดว่า วาจาก้าวร้าว รุนแรง คือ อย่างใด.."

ต่อเรื่องนี้ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การกระทำใดที่จะเข้าข่ายความผิดนั้น ต้องยื่นคำร้องมายังสำนักงาน กกต. ที่จะมีอนุกรรมการคอยพิจารณาเพื่อกลั่นกรองว่า จะรับหรือไม่รับ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ถ้าสุจริตและสุภาพก็ไม่เป็นปัญหา

สำหรับการจัดเวทีรณรงค์การออกเสียงประชามติ รศ.สมชัย กรรมการ กกต. ระบุว่า ไม่สนับสนุนให้ตั้งเวทีระดับจังหวัด ถ้าหากองค์กรใดประสงค์จะรณรงค์ในระดับจังหวัดเป็นไปได้ว่า กกต.จะไม่อนุมัติ เนื่องจาก กกต.จะเปิดโอกาสให้ส่งตัวแทนมาดีเบตผ่านสื่อสาธารณะโดยจะจัดทั้งหมด 10 รอบ ให้ 2 ฝ่ายส่งตัวแทนมาแสดงความเห็นกันได้ ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ที่ประชาชนจะเข้าถึงได้มากกว่า และได้ประโยชน์กว่าการจัดเวทีในจังหวัด

ถ้ามีการจัดเวทีโดยไม่แจ้ง กกต. ผู้จัดต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดต่อ พ.ร.บ.ประชามติ หากจัดแล้วเกิดความวุ่นวายในพื้นที่นั้น หรือผิดต่อกฎหมายความมั่นคงเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองได้ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า หลักสำคัญ คือ ต้องคำนึงถึงบรรยากาศความสงบเรียบร้อย มีเหตุมีผล ภายใต้กรอบกติกาของสังคมในปัจจุบันที่ขณะนี้ยังไม่ใช่สังคมที่จะเปิดโอกาสในทุกเรื่อง ต้องทำเท่าที่ทำได้ การออกแบบเช่นนี้เป็นผลดีที่สุดที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นอาจมีบางคนฉกฉวยเรื่องนี้มาใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองของตัวเองได้

ขณะที่นายประวิช รัตนเพียร กรรมการ กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม อธิบายว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติออกมาแล้ว กกต.จะมีแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนได้เห็นง่ายๆ ซึ่งจะมี 3 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ทำได้และควรทำ อาทิ เรื่องการไปใช้สิทธิออกเสียง และการไปตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง เป็นต้น ส่วนที่สอง คือ สิ่งที่ทำไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ขัดขวางการไปออกเสียงประชามติคนอื่น ใช้บัตรออกเสียงที่ไม่ถูกต้อง การขนคน จ้างวาน หลอกลวง ข่มขู่ก้าวร้าว ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กฎหมายห้ามไว้ชัดเจน ส่วนสุดท้าย คือ เรื่องที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งในกฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ผิด 100% แต่เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เช่น การทำสิ่งที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ เป็นการรณรงค์ ซึ่งไม่แนะนำให้ก้าวไปยังจุดนั้น เพราะหากโดนร้องเรียนขึ้นก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ดี ใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่ออกมานั้น มีมาตราหนึ่งที่เขียนรองรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นบนข้อมูลที่ถูกต้องตามกฎหมาย "กล่าวคือ ความเห็นส่วนตัวสามารถแสดงออกได้ว่าคิดเห็นอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยที่ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือปลุกระดมข่มขู่ ไม่ไปชี้ชวน ไม่ต้องไปรณรงค์กับใคร ขอให้อยู่บนพื้นฐานเหล่านี้ จะมีกฎหมายรองรับสิทธิเสรีภาพตรงนี้อยู่แน่นอน แม้ในสภาวการณ์ตอนนี้ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน หากยึดหลักนี้ร่วมกัน ตามที่กฎหมายมีมาตราที่บัญญัติรองรับสิทธิเสรีภาพตรงนี้อยู่ หากยืนอยู่บนหลักการนี้ คิดว่า สามารถเดินหน้าประชามติได้" คำยืนยันจากปาก 1 ใน 5 เสือ กกต.

ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เรียกตัวเองว่า "กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการ นักการเมือง ศิลปิน ภาคเอกชน และเอ็นจีโอกว่า 100 รายชื่อ ได้ทำข้อเสนอต่อการจัดทำประชามติในร่างรธน. เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมผลักดันให้เกิดผลจริง 4 ประการ คือ

1.กระบวนการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน 2.ในกระบวนการทำประชามติต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเพื่อการแสดงความเห็นตามกรอบของกฎหมาย

3.ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริต และอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรธน.ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และถือเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง และ 4.ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนก่อนการทำประชามติว่าจะมีทางเลือกและกระบวนการอย่างไรต่อไปในกรณีที่ร่างรธน.ไม่ผ่านการทำประชามติ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันได้มากที่สุด โดยต้องให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถถกแถลงและเสนอทางเลือกต่างๆได้อย่างเสรีและสร้างสรรค์

คงต้องจับตาท่าทีของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันต่อไปว่า จะตีกรอบขอบเขตการแสดงความคิดเห็นที่พอเหมาะพอดีอยู่ตรงไหน อย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559