พื้นที่พาณิชย์ให้เช่าห้างย่านออร์ชาร์ดเริ่มร้าง

29 เม.ย. 2559 | 11:00 น.
หนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทม์ส รายงานว่าพื้นที่พาณิชย์ให้เช่าในศูนย์การค้ากลางเมืองสิงคโปร์ไตรมาสแรกปีนี้ว่างไม่มีคนเช่ามากในระดับสูงสุดในช่วง 5 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้าระดับรอง ๆ ใกล้ถนนออร์ชาร์ด

บริษัทวิเคราะห์และนายหน้า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ บริษัทคอลลิเออร์สฯ ระบุว่าอัตราพื้นที่พาณิชย์ว่างไตรมาสแรกปีนี้เฉลี่ยเพิ่มจาก 8% เป็น 8.7% สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2554 ที่องค์กรพัฒนาเมืองของสิงคโปร์เริ่มเก็บข้อมูลพื้นที่พาณิชย์เพื่อการค้าปลีกซึ่งรวมทั้งพื้นที่การค้าอาหารเครื่องดื่ม สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนสและธุรกิจบันเทิง โดยในพื้นที่พาณิชย์แถบถนนออร์ชาร์ด ซึ่งเป็นย่านใจกลางเมืองสิงคโปร์ปรากฏว่าพื้นที่ว่างไม่มีคนเช่าเพิ่มขึ้น 1.2% เป็น 8.8%

สเตรตส์ไทม์ส ระบุว่าพื้นที่พาณิชย์สำหรับการค้าปลีกว่างมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกกำลังเจอกับปัญหาต้นทุน ขณะที่แนวโน้มการค้าอ่อนตัวลง และพื้นที่พาณิชย์ให้เช่ามีเพิ่มมากขึ้น โดยมีรายงานว่าเมื่อเฉลี่ยทั้งเกาะสิงคโปร์ปรากฏว่าพื้นที่พาณิชย์ให้เช่าสำหรับการค้าปลีกว่างในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ 7.3 % ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วอยู่ที่ 7.2%
นักวิเคราะห์อ้างตัวเลของค์กรพัฒนาเมืองระบุว่า ธุรกรรมการเช่าพื้นที่พาณิชย์เพื่อการค้าปลีกในไตรมาสแรกปีนี้มีเพียง 1,725 รายลดลงถึง 32% เทียบกับไตรมาสสุดท้ายปี 2558 ซึ่งมีการทำการเช่าพื้นที่ถึง 2,550 ราย

นางคริสตีน ลี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัท Cushman & Wakefield ให้สัมภาษณ์สเตรตส์ไทม์ส ว่า “เราเห็นสัญญาณ พื้นที่พาณิชย์ว่างในศูนย์การค้าใหม่ ๆ โดยนอกจากพื้นที่ใหม่จะไม่มีคนเช่าแล้วพื้นที่เดิมที่มีการเช่าขายของอยู่แล้วก็มีการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดทำให้มีพื้นที่ว่างเพิ่มมากขึ้น”

นายคู สวี หย่อง ผู้บริหาร เซ็นจูรี่ 21 สิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์การค้าที่มีพื้นที่ว่างในถนนออร์ชาร์ดมีทั้ง ชอว์เซ็นเตอร์ ออร์ชาร์ดเกตเวย์ ออร์ชาร์ดเซ็นทรัล และพาเลเรเนซองส์ “พื้นที่ว่างจะมีเพิ่มขึ้นในไตรมาสต่อ ๆ ไปเพราะผู้ค้าบางรายบอกแล้วว่าจะต้องมีการปิดสาขาบางส่วนเพื่อลดการขาดทุน”

กลุ่มอาล-ฟุตเทม (Al-Futtaim Group) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จากดูไบ ระบุว่าทางกลุ่มจะปิดร้าน RSH ซึ่งเป็นเชนร้านขายสินค้ารองเท้าเครื่องแต่งกายแบรนด์ดัง 10 แห่ง ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยนายคริสโตฟ์ คานน์ (Christophe Cann)ประธานบริหาร RSH ในภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่าการปิดร้าน จะเริ่มจากพื้นที่ที่มีค่าเช่าแพง พร้อมระบุว่าเจ้าของศูนย์การค้าควรจะช่วยเหลือผู้เช่าในช่วงที่มีความยากลำบากอย่างเช่นในขณะนี้

ขณะเดียวกันนายดักลาส ฟู ประธานบริษัทซาเกะ โฮลดิ้งส์ฯ (Sakae Holdings) เจ้าของเครือข่ายร้านซูชิซาเกะ ระบุว่าด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีและเกื้อกูลจากผู้จัดการศูนย์การค้า Wheelock Place ทำให้ร้านซูชิซาเกะที่ตั้งอยู่ในศูนย์ พออยู่ได้ “ถ้าตอนที่เราต่อสัญญาเช่าและเจอกับเจ้าของที่ ประเภทที่ไม่ได้ทำให้เราหัวใจวายด้วยการเพิ่มค่าเช่าทีเดียว 30 -40% และยังได้ถามว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เช่าค้าปลีกอยู่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยเราได้มาก”

สเตรตส์ไทม์ส ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ค่าเช่าพื้นที่พาณิชย์เริ่มลดลงอย่างช้า ๆ ในช่วงนี้ โดยองค์กรพัฒนาเมือง ระบุว่าไตรมาสแรกปีนี้ ค่าเช่าพื้นที่ลดลง 1.9% โดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่ลดลง 1.3% ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว โดยบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการค้าอสังหาริมทรัพย์ JLL ระบุว่าแนวโน้มคนเช่าพื้นที่น้อยลงอาจจะทำให้ผู้ให้เช่ารายใหญ่ ๆ เสนอส่วนลดพิเศษ เพื่อไม่ให้ศูนย์การค้ามีสภาพเป็นฟันหรอ

อย่างไรก็ดี คอลลิเออร์ส ระบุว่าค่าเช่าพื้นที่พาณิชย์ที่ลดลงมาก ๆ อาจจะเป็นโอกาสให้สินค้าแบรนด์ใหญ่บางแบรนด์ถือโอกาสเปิดร้านใหม่ของแบรนด์โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองได้เช่นกัน

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559