ส่งออกไทยเดือนมี.ค.ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

25 เม.ย. 2559 | 06:36 น.
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม 2559 ว่า การส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ เครื่องจักรกล และทองคำ อีกทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี จากการขยายตัวในด้านปริมาณ แต่ยังคงเผชิญกับปัจจัยราคาที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ด้านมูลค่าขยายตัวต่ำกว่าปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยังคงต้องเฝ้าจับตามองสถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงผันผวนอย่างใกล้ชิด จากสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดีการส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก แสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ระดับที่ดี อีกทั้งข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในระยะต่อไป

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่า 676,529 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 1,923,794 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)  ในขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่า 578,447 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.77 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 1,650,153 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.15 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2559 เกินดุล 98,082 ล้านบาท และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) เกินดุล 273,641 ล้านบาท

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่า 19,125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 53,829 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.90 (YoY) แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ มูลค่าส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 1.4 (YoY) ในขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2559  มีมูลค่า 16,159 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -6.94 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 45,640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -11.99 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2559 ยังคงเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมีมูลค่า 2,966 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) เกินดุล 8,189 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ -1.5 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2559 นี้ ยางพาราหดตัวถึงร้อยละ –21.1 (YoY) เช่นเดียวกับ  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-12.6) ทูน่ากระป๋อง (-7.7) เครื่องดื่ม (-5.5) หดตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออก พบว่าหลายรายการยังมีปริมาณส่งออกที่ดี แต่ด้วยปัจจัยราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ที่ปริมาณส่งออกสินค้าขยายตัว (+2.5) แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง  ในขณะที่ น้ำตาลทราย และข้าว มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวดีร้อยละ  6.0 และ 7.3 (YoY) ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึงร้อยละ 18.5 และ 26.1 (YoY) ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และทองคำ ในขณะที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยฉุดรั้งมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.4 (YoY) ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 43.8 (YoY) ซึ่งเป็นการขยายตัวของการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 262.5 (YoY) จากปัจจัยด้านราคาทองคำที่สูงขึ้น และมีการส่งออกเพื่อเก็งกำไร เช่นเดียวกับการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 (YoY) จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 80.8 (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง

ในขณะที่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 7.6 ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ -22.7 จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว

โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนมีนาคม 2559 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 35.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ ก็หดตัวสูง (-28.4) จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-6.2) ที่หดตัวลงเช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าส่งออกของไทยที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

ตลาดส่งออกสำคัญอย่างอาเซียน(9) และทวีปออสเตรเลีย(25) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดส่งออกหลักอย่างตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) กลับมาหดตัว เช่นเดียวกับจีน

ที่ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เดือนมีนาคม 2559 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อาเซียน (9) และทวีปออสเตรเลีย(25) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (YoY) และร้อยละ 3.5 (YoY)  ตามลำดับ จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีในทั้งสองภูมิภาค อย่างไรก็ดีพบว่ากลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ -6.9 (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่หดตัวจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสำคัญ นอกจากนี้ตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -6.1 (YoY) สหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ -2.9 (YoY) และสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.4 (YoY) เช่นเดียวกับ การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีน หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.4 (YoY) จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ารวมถึงการหดตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการใช้นโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าและเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์มูลค่าการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย

การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่า 85,360 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.80 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 254,173 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.95 (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 ไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 22,919 ล้านบาท และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) ได้ดุลการค้า 47,884 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนมีนาคม  2559 มีมูลค่า 12,550 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.31 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 36,652 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.51 (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 ไทยขาดดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 2,500 ล้านบาท และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) ขาดดุลการค้า 4,356 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 97,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 290,825 ล้านบาท ขยายตัว 2.38 (YoY)

ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ยังคงยึดแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

1.ขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีนหรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์

จะใช้โอกาสทางการค้า และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

2.เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven)   หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกในระดับเมือง (City focus) มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) และช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเจาะตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง/เมืองเศรษฐกิจหลัก โดยเน้นสินค้า/บริการแบรนด์ที่มีศักยภาพ   3.ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness and Medical Services) ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Industry) ธุรกิจโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Logistics and Facilitation) ธุรกิจการให้บริการของสถาบัน (Institutional Services and Related) ธุรกิจบริการสนับสนุนการค้า (Trade Supporting Services) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Business)

4.ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ โดยผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึงขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี  สร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน/นักธุรกิจ ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และ 5.ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ