6ประเด็นเสี่ยงใบแดงอียู ฝรั่งไม่พอใจไทยบังคับใช้ก.ม./ลุ้นถกพ.ค.คาดไม่เลวร้าย

26 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
เปิดแฟ้มลับ 6 ประเด็นเสี่ยง ที่มาอียูฮึ่ม!ใส่ไทยขู่ให้ใบแดงแก้ไอยูยู ประเด็นใหญ่อ่อนบังคับใช้กฎหมายไม่เข้าตา ขณะจ้องปัญหาแรงงานต่างด้าวไทยลามธุรกิจสัตว์ปีก-ท่องเที่ยว หวั่นใช้รวมประเมินผล ด้านเอกชนขานรับ"อดิศร"อธิบดีประมงคนใหม่ จี้เร่งแก้ 3 เรื่องบรรเทาเดือดร้อนชาวเล กรมประมง โชว์สถิติรอบ 8 ปีจับเรือผิดกฎหมายแล้วกว่า 4 พันคดี

จากที่สหภาพยุโรป(อียู)ได้ให้ใบเหลืองเตือนประเทศไทยให้เร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู ฟิชชิ่ง) มาครบ 1 ปีเต็ม(ให้ใบเหลืองเมื่อ 21 เม.ย.58) ขณะที่ล่าสุดข่าวหลากกระแสระบุอียูยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของไทยนัก และมีสิทธิ์ที่จะโดนใบแดงได้นั้น

[caption id="attachment_47808" align="aligncenter" width="700"] 6ประเด็นที่มาเสี่ยงใบแดง 6ประเด็นที่มาเสี่ยงใบแดง[/caption]

6ประเด็นที่มาเสี่ยงใบแดง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงที่มาของกระแสใบแดงว่า เป็นผลจากเจรจาเรื่องการแก้ไขปัญหาไอยูยูแบบเต็มคณะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยฝ่ายไทยมีดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กเป็นหัวหน้าคณะ โดยได้หารือในเรื่องดังกล่าวกับคณะผู้แทนของกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงของอียู(DG MARE) นำโดย Mr.Cesar Deben ตำแหน่ง Principal Adviser ได้ข้อสรุปผลการหารือใน 6 ประเด็นหลัก และได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้วผ่านทางพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯก่อนหน้านี้

โดยประเด็นแรก อียูค่อนข้างพอใจกับความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทยในเรื่องการปฏิรูประบบประมง โดยเฉพาะในประเด็นด้านเทคนิคต่างๆ แต่มีความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายประมงใหม่ ทั้งในเรื่องการปราบปรามไอยูยู และการกระทำผิดด้านแรงงาน เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานระดับปฏิบัติไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับการกระทำผิดที่ตรวจพบ ซึ่งเห็นได้ในหลายกรณีนับตั้งแต่ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558

ที่สำคัญได้แก่ จากการไปตรวจศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ที่กรมประมง อียูตรวจพบว่ามีเรือไทยที่ใบอนุญาตทำประมงนอกน่านน่านน้ำหมดอายุ แต่ยังทำการประมงอยู่ในมหาสมุทรอินเดียจำนวน 6 ลำ ถือเป็นกรณีการทำประมงไอยูยูอย่างชัดเจน (ภายหลังกรมประมงได้เรียกเรือเหล่านี้กลับ และมีการออกหมายจับเจ้าของเรือแล้ว)

ขณะเดียวกันในการตรวจแรงงานในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งพบความผิดในโรงงาน 17 แห่ง แต่มีเพียง 5 แห่งที่ถูกสั่งให้ยุติกิจการตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก. ซึ่งอียูเห็นว่าควรบังคับใช้มาตราดังกล่าวของ พ.ร.ก.กับโรงงานที่กระทำผิดทั้งหมด นอกจากนี้การตรวจแรงงานในเรือประมงนอกน่านน้ำจำนวน 50 ลำ พบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 494 คน แต่กลับไม่ดำเนินคดีอาญา และใช้มาตรการทางปกครองกับเจ้าของเรือและผู้คุมเรือตาม พ.ร.ก. รวมถึงการตรวจเรือ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง(PIPO) พบว่ามีเรือที่มีคุณสมบัติไม่ครบและไม่ได้รับการอนุญาตให้ออกจากท่าเรือมากกว่า 4 พันลำ แต่ไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายกับเรือเหล่านี้

 ขู่ใบแดงหากอ่อนบังคับใช้ก.ม.

ประเด็นที่ 2 อียูเห็นว่าการที่หน่วยงานไทยกล่าวถึงแรงกดดันจากภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในยุโรป ภาครัฐต้องทนต่อแรงกดดันจากผู้ประกอบการให้ได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการปฏิรูปภาคการประมงของไทย นอกจากนี้อียูเห็นว่า การขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแย้งกับเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ประกาศ "Zero Tolerance" ซึ่งหากไทยยังไม่มีผลของการบังคับใช้กฎหมายให้เห็นอย่างเด่นชัด ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ฝ่ายการเมืองของอียูจะให้ใบแดงไทย

 ไทยแจง 4 เหตุไม่ได้ละเลย

ผลพวงจากประเด็นที่ 3 เป็นที่มาของประเด็นที่ 4 โดยดร.วีรชัยได้ชี้แจงให้ฝ่ายอียูรับทราบถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของไทยไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติละเลยหน้าที่ หรือขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมีการสมยอมกันกับผู้กระทำผิด แต่ปัญหามีสาเหตุหลักจาก 4 ประการได้แก่ 1.ขาดกฎหมายอนุบัญญัติสำหรับการบังคับใช้ข้อบทที่สำคัญหลายประการ และกำลังเร่งดำเนินการ 2.ปัญหาในการตีความตาม พ.ร.ก.ทำให้โรงงานที่พบการกระทำความผิดยังไม่ถูกสั่งหยุดหรือปิดกิจการทั้งหมด ซึ่งไทยอยู่ระหว่างเร่งกระบวนการตีความตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ 3.การขาดประสบการณ์และความรู้ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้ พ.ร.ก. ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ และ 4.ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน จึงต้องเร่งจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน(SOPs) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติเมื่อตรวจพบการกระทำผิดที่เกิดขึ้น

 แก้ต่างด้าวทั้งระบบลดเสี่ยง

ประเด็นที่ 4 อียูแจ้งว่า ขณะนี้นักการเมืองในสภายุโรปมองว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคประมงเท่านั้น แต่ได้ลามสู่ภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย ซึ่งย่อมจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องประมงไอยูยู ซึ่งหากไทยประกาศนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบก็น่าจะช่วยโน้มน้าวให้อียูยังไม่ให้ใบแดงไทยในช่วงนี้ และให้เวลากับไทยในการแก้ไขปัญหาต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ขณะนี้ยังถือว่าไทยอยู่ในสถานะใบแดง

ประเด็นที่ 5 อียูให้ความสำคัญมากกับระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเห็นว่าไทยยังมีความหละหลวมในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ ขาดการสอบทานอย่างเป็นระบบและรัดกุม โดยออกใบรับรองทั้ง ๆ ที่เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน เป็นช่องโหว่ทำให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไอยูยู ไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้เรือประมงไทยและเรือประมงต่างชาติที่นำสินค้ามาขึ้นท่าประเทศไทยก็ยังไม่ได้มาตรฐาน

และประเด็นที่ 6 อียูยังได้ให้ข้อเสนอแนะทางเทคนิคอื่นๆ แก่ไทยที่เป็นประโยชน์ และให้เร่งดำเนินการแก้ไข ได้แก่ การปรับปรุงอนุบัญญัติเพื่อปิดช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการทางทะเลเพื่อให้แผนมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ควรปรับเปลี่ยนแผนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนแม้จะได้รับแรงกดดันจากชาวประมง และควรมีการทบทวนแผนทุกปี การเร่งจัดทำแผนเยียวยาชาวประมง การซื้อเรือคืน และการพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์ FMC เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยในทุกเรื่องที่กล่าวมามีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ และไทยคาดหวังอียูจะให้เวลาในการแก้ไขปัญหาอีกระยะหนึ่งและปลดใบเหลืองในที่สุด ทั้งนี้กำหนดการหารือแบบเต็มคณะเพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2559 ณ กรุงบรัสเซลส์

 ขานรับอธิบดีประมงใหม่

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศ ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมประมงเป็นนายอดิศร พร้อมเทพ (อ่านบทสัมภาษณ์ในหน้า 6) นั้นทางสมาคม ยินดีด้วย และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไอยูยู โดยส่วนตัวมองว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ถ้าได้รับความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และรับฟังเหตุผลของทุกฝ่าย

"ส่วนตัวที่ร่วมงานมาในหลายเวที อธิบดีกรมประมงคนใหม่เป็นคนรับฟังเหตุผล สิ่งที่อยากจะเสนอให้ท่านเร่งดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วนมี 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1. เรื่องการเยียวยาประมงชดเชยเรือประมงพาณิชย์ บางลำยังไม่ได้ 2. การซื้อเรือคืน และ 3.เรือบางลำที่ยังทำประมงตามปกติ แจ้งเข้าออกศูนย์ แต่ยังมีชื่ออยู่ในเรือที่โดนเพิกถอนทะเบียน เป็นต้น"

 9องค์กรผนึกช่วยแก้ไอยูยู

นายมงคล เผยอีกว่า ในวันที่ 27 เมษายน 2559 นี้จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ(MCPD) และการพัฒนาสุขอนามัยสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำระหว่างองค์การสะพานปลากับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้สินค้าประมงของไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน มีความโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมายตามที่อียูต้องการ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาและสรุปแนวทางการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ เพื่อใช้ประกอบในการออกหนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และขยายผลสู่การใช้งานจริงภายใน 1 ปี

8 ปีจับเรือประมงอื้อ

ขณะที่การจับกุมและดำเนินคดีเรือประมงที่ผิดกฎหมายที่ไทยถูกอียูกล่าวหามาโดยตลอดว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แหล่งข่าวจากกรมประมง เผยถึง ข้อมูลการจับกุมเรือประมงย้อนหลัง 8 ปีงบประมาณ นับตั้งแต่ ปี 2551-2558 มีทั้งหมด 3.78 พันคดี ผู้ต้องหาทั้งสิ้น 2.14 หมื่นราย มีการทำผิดในกลุ่มเครื่องมืออวนลากเดี่ยวสูงสุด 795 คดี ผู้ต้องหา 2.44 พันราย รองลงมา เป็นชนิดเครื่องมืออวนรุน จำนวน 575 คดี มีผู้ต้องหาทั้งหมด 762 ราย ล่าสุดในปีงบประมาณ 2559 ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2559 จำนวน 269 คดี ผู้ต้องหา 863 คน จำแนกเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน จำนวน 144 คดี ผู้ต้องหา 68 คน ประมงพาณิชย์ จำนวน 155 คดี ผู้ต้องหา 795 คน

สอดคล้องกับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนามปฏิบัติการทางทะเลของ "ผู้สังเกตการณ์บนเรือ รุ่นที่ 2" เมื่อเร็ว ๆนี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายของไทยจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ยึดตามหลักกฎหมายใหม่และมาตรฐานสากลเพื่อควบคุมการทำประมงของไทยให้ปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย นับตั้งแต่ไทยได้รับใบเตือนจากอียู ทุกวันนี้ก็ยังทำตามคำแนะนำ เพื่อประโยชน์ของทะเลไทยเอง ซึ่งในการเดินทางไปรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ เชื่อว่าจะเห็นความก้าวหน้าในทุกครั้งที่ผ่านมา อย่างน้อยสถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว แต่ก็คงไม่ถึงขั้นปลดใบเหลืองได้

 ยุโรปยันหารือไทยพ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลไทยรับทราบแถลงการณ์ของMr. Karmenu Vella กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และการประมงของสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทย ซึ่งออกใน(วันที่ 21 เม.ย. 59) ยืนยันที่จะมีกระบวนการการหารือกับไทยในเดือนพฤษภาคม 2559 ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยจะเร่งติดตามและแจ้งผลการแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559