‘พิเชฐ’ปูพรม‘นวัตกรรม’ สตาร์ต อัพ ‘ฐานเศรษฐกิจใหม่’

27 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
หัวใจของยุทธศาสตร์"ไทยแลนด์4.0" สู่เป้าหมายประเทศรายได้สูงที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของรัฐบาล ด้วยกระบวนการประสานพลังทุกภาคส่วนตามตัวแบบประชารัฐนั้น พลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้แหวกพ้นไปจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางออกไปได้คือนวัตกรรม ซึ่งต้องอยู่บนฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องลงทุนทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง "พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์"รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แจกแจงภารกิจของกระทรวง ที่ต้องสอดแทรกเข้าไปในแทบทุกแผนงานของคณะทำงาน 12 ด้านประชารัฐ

 ปลุก "ฐานเศรษฐกิจใหม่"

เริ่มด้วยการจัดงานใหญ่ "สตาร์ต อัพ ไทยแลนด์ 2016" ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-1 พฤษภาคมนี้ ที่ รมว.พิเชฐย้ำว่า จะเป็นการปักธงให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการประกอบการแห่งอนาคต และแพลตฟอร์มการประกอบการใหม่ หรือสตาร์ต อัพนี้เอง ที่จะเป็น"ฐานเศรษฐกิจใหม่"ของประเทศ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า "สตาร์ต อัพ" คืออะไร เมื่อพูดถึงการประกอบการในแบบแผนเดิม ก็จะดูว่าจะผลิตอะไร ต้องหาทุนรอนมายกเว้นว่าพ่อรวย เอามาตั้งโรงงานผลิตสินค้ามาเพื่อไปจำหน่าย การจะหาแหล่งทุนถ้าไปขอแบงก์ขอสถาบันการเงิน เขาก็จะคิดดอกเบี้ยก็ว่ากันไปตามภาวะตลาด แต่ก่อนจะปล่อยกู้ก็ต้องดูแผนธุรกิจ ดูหลักค้ำประกัน แต่ละธนาคารก็จะมีทีมมาดูว่ามีความเสี่ยงมากไหม คุ้มกับที่จะปล่อยกู้หรือเปล่า กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาหลายสิบปี

แต่โลกเปลี่ยนไป คนที่ไม่สามารถจะทำธุรกิจได้ในอดีต วันนี้มีช่องทางจะทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเดิม โลกเปิดให้คนธรรมดา อย่างคุณอย่างผมเข้ามาทำได้ สตาร์ตอัพไม่จำกัดอายุ ส่วนมากเข้าใจผิดกันแล้วกันผมให้ออกนอกวงอยู่เรื่อย แต่แน่นอนคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปีเข้ามากันมาก และเหมาะกันเขามาก แต่คน 70-80 ปีก็ทำได้

การที่ทั่วโลกกระหึ่มเรื่องนี้มาก สำหรับผมแล้วอยากเรียกว่าเป็น "ฐานเศรษฐกิจใหม่" เพราะเปิดกว้าง ถ้าไม่เช่นนั้นผมต้องเป็นลูกเถ้าแก่ถึงจะเป็นได้ แต่ทุกวันนี้ลูกชาวนาก็เข้ามาได้ เพราะมันคือ"ไอเดีย" สิ่งที่เดินไปได้เพราะระบบการลงทุนเปลี่ยนไปจากอดีต

กลุ่มสตาร์ต อัพคือการประกอบการยุคใหม่ เขาจะต่างจากเอสเอ็มอีในอดีต ที่กรอบคิดการทำธุรกิจจะจำกัดเฉพาะในพื้นที่ ในภูมิภาคแคบ ๆ แต่สตาร์ต อัพจะมองตลาดที่กว้างมาก ถ้าสำเร็จสามารถขายได้ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น คนมีความต้องการชุดตรวจยืนยันโรคต่างๆ จากเดิมที่ใช้เวลา 5-7 วัน ถ้าทำได้ใน 10 นาที ใครคิดได้อย่างนี้คือตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งก็มีสตาร์ต อัพของสหรัฐอเมริกาที่คิดค้นและตั้งธุรกิจได้สำเร็จ เวลานี้พัฒนาชุดตรวจโรคใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีก เป็นต้น

 การลงทุนใน"สตาร์ต อัพ"

ตัวสตาร์ต อัพจะเป็นพวกไม่มีทุนแต่มีไอเดีย ถ้าไอเดียนี้ขายได้มีผู้ลงทุนยินดีลงมาเสี่ยงกับสตาร์ต อัพ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นโปรดักต์เลย แต่เห็นว่ามีศักยภาพ นักลงทุนพวกนี้เป็นนักลงทุนที่ยินดีลงมารับความเสี่ยงในลักษณะที่แบงก์พาณิชย์ไม่กล้า และถ้าสำเร็จก็สามารถขายหรือกระจายไปได้ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น แกร็บแท็กซี่

สตาร์ต อัพวันนี้ทำงานง่ายกว่าสมัยผมเยอะ เพราะช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์สูงมากใช้ช่องทางเดียวกัน สร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ถ้าคนเห็นเมื่อไหร่และของดีเมื่อไหร่ก็ขายได้ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปจากวิสัยทัศน์เดิม ๆ
การลงทุนในสตาร์ต อัพก็เปลี่ยนไป อาจเป็นพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิด เห็นไอเดียลูกหลานแล้วอยากช่วย ถือว่าเอามาเสี่ยงกับลูกตามกำลัง เช่น ลงทุนให้ 5 หมื่นบาทเอาไปทำเลยไม่ต้องคืน อย่างนี้เรียก Angel Fund เป็นทุนจากนางฟ้า

อีกประเภทสตาร์ต อัพที่มีไอเดีย เอาไอเดียเขาขึ้นเว็บแล้วเกิดมีคนเห็นแล้วสนใจ อาจไม่ใช่คนรวยที่จะลงทุนคนเดียวเองทั้งหมด ก็ลงเป็นหุ้น เช่น 1.5 แสนบาท ถ้ามีคนสนใจจะลงด้วย 10 คนก็มีทุน 1.5 ล้าน โดยที่ผู้ลงทุนไม่รู้จักกันเลยแต่เชื่อมโยงกันด้วยเว็บ เข้ามาเสี่ยงด้วยกันทุกคน แต่ถ้าสำเร็จผลตอบแทนก็จะสูงมากตามสถิติของสตาร์ต อัพที่สำเร็จทั่วโลก

อีกประเภทเป็นนักลงทุนมืออาชีพ เช่น กองทุนร่วมทุน คือมีทุนที่พร้อมไปผจญภัยคือพร้อมรับความเสี่ยง พวกนี้เป็นแมวมองจมูกดี หูตาไว คอยสอดส่องหาสตาร์ต อัพใหม่ ๆ กลุ่มนี้มีเงินทุนอยู่แล้วและมุ่งลงทุนทางนี้โดยตรง ก็จะมุ่งไปในที่ที่มีสตาร์ต อัพ ไปฟังข้อเสนอสตาร์ต อัพทั้งหลาย เป็นระบบแบบนี้ทั้งโลกเลยนะ กลุ่มนี้พร้อมลงทุน 10 ล้านบาท 100 ล้านบาท หรือพันล้านบาทได้ เป็นนักลงทุนในสตาร์ต อัพโดยตรง ซึ่งเวลานี้บ้านเราก็เริ่มมีบ้างแล้ว

 ตั้งเป้าไทยศูนย์กลางสตาร์ต อัพ

เราช้าไปนิดหนึ่งแต่เร่งตอนนี้ก็ยังน่าจะเร่งขึ้น แน่นอนช้ากว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย แต่กับประเทศอื่นแป๊บเดียวก็ทัน ที่สำคัญพอเราตั้งตัวได้ด้วยมาตรการที่รัฐลงไว้ เราจะพยายามดึงดูดให้เราเป็นที่ที่เขาอยากมาเป็นสตาร์ต อัพ อยากมาเป็นเวนเจอร์แคปที่เรา เรามีจุดขายที่ทำได้ เช่น วัฒนธรรม ที่เราพร้อมจะปั้นวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าและบริการได้ดีกว่า มีกลไกที่อำนวยความสะดวกให้ได้มากกว่า ตอนนี้กำลังไต่ขึ้นมา เรื่องทุนผมไม่ค่อยห่วง ถ้าเรามีของดีมีสตาร์ต อัพเดี๋ยวเขามาเอง ตอนนี้คือต้องเร่งทำคือ ต้องปั้นสตาร์ต อัพให้เกิดขึ้น ยกระดับขึ้นมาเป็นเทค สตาร์ต อัพ เป็นซิสเต็ม สตาร์ต อัพ ให้ได้โดยเร็ว คือแปลงจากเรื่องความคิดล้วน ๆ ให้เป็นผลผลิตโดยเร็ว

ต้องเร่งเรื่องศูนย์บ่มเพาะให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและหลากหลาย จะเกิดในศูนย์สตาร์ต อัพต่าง ๆ ก็ได้ ที่ตึกเอสคิว 1 ได้คุยกับอธิการบดีจุฬาฯ ไว้แล้ว กับที่ถนนนิมมานเหมินทร์ ที่เชียงใหม่ เราจะเริ่มจากสองจุดนี้ก่อน ส่วนจะบริหารจัดการอย่างไรจะรีบหาข้อสรุปอีกที แต่ก็มิใช่ว่ารัฐจะทำเอง เอกชนต้องเข้ามาร่วม จริงๆ เอกชนควรต้องทำต้องเข้าบริหารแต่รัฐเริ่มให้ก่อน

 ภารกิจต่อเนื่อง "จากหิ้งสู่ห้าง"

ดังนั้น เพื่อให้เร็วขึ้นหลังเสร็จงานสตาร์ต อัพไทยแลนด์คราวนี้แล้ว ผมจะระดมเอางานวิจัยที่สำเร็จแล้ว ถ่ายทอดเทคโนโลยีได้แล้ว และบางกรณีมีเอกชนบางรายเอาไปผลิตแล้ว ผมจะเอามาทั้งกระทรวงวางเรียงเลย จากหิ้งสู่ห้าง งานนี้เราเคยทำมา 3 หนซึ่งก็สำเร็จมาก ก่อนนั้นยังไม่ได้คิดถึงเรื่องสตาร์ต อัพ เอามาวางให้คนสนใจเอาไปทำ ค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีถูกมาก 3 หมื่นบาทเอง ก็ทำสำเร็จเรียบร้อยดี

ตอนนี้คิดว่าเอามาให้จับต้องแต่คราวนี้ไม่ใช่เถ้าแก่ แต่เป็นคนที่อยากเป็นสตาร์ต อัพ อาจเรียนวิศวะฯมา เรียนสถาปัตย์มา มาเห็นของบางชิ้นเอ๊ะ ใช่เลย ต่อยอดอีกนิดหนึ่งน่าจะขายได้ ก็ไปคิดเรื่องแผนธุรกิจต่ออีกหน่อย เข้ามาเป็นสตาร์ต อัพได้ กำลังจะชวนมหาวิทยาลัยมาร่วมด้วย อย่างนี้จะเร็ว ไม่ต้องไปบ่มเพาะอะไร ของมีอยู่แล้วมาต่อยอดได้

 จัดกองทัพนักวิจัย

อีกวิธีหนึ่งเรามีนักเรียนทุนจำนวนมาก กระทรวงวิทย์มี 4.5 พันคน กลับมาแล้ว 2.7 พันคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่มหาวิทยาลัย คิดจะจัดประชุมใหญ่ทั่วประเทศกันสักครั้ง มานั่งคิดกันว่าจะช่วยประเทศกันได้อย่างไร เช่น เอามาจัดใส่เข้าไปใน 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งต้องมีกำลังคน ผมเคยลองจัดกลุ่มดูคร่าวๆ บางคลัสเตอร์มีนักวิจัยที่เข้าข่ายถึง 300 คน นี่คือกองทัพน้อยๆ ที่จะมารองรับ 10 คลัสเตอร์ ที่ยากคือจะจัดกระบวนกันอย่างไร ให้เขามาเจอกันแล้วยังไงต่อ วิธีทำงาน จะเป็นอย่างไร อะไรคือเป้า ใครคือแชมเปี้ยน ใครทำงานชิ้นส่วน ใครทำงานระบบ ต้องคิดให้ตลอดคน

แต่เรื่องเหล่านี้จะทำภายในปีนี้ คือ สตาร์ต อัพ จากหิ้งสู่ห้าง ฟู้ดส์อินโนโพลิส และเรื่องกองทัพนักวิจัย

 ฟู้ดส์อินโนโพลิสมีหน้าตาอย่างไร

ตั้งที่อุทยานวิทยาศาสตร์ รังสิต พื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร ไม่ก่อสร้างใช้ตึกที่มีอยู่แล้วทำได้เลย ทุกวันนี้มีบริษัทที่เข้าข่ายอุตสาหกรรมอาหารไปใช้กว่า 10 บริษัทแล้ว ตั้งต้นได้แล้ว กำลังจะโรดโชว์ประเทศต่างๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น หรือในงานไทยเฟ็กอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

สิทธิประโยชน์ ทางบีโอไอ.ประกาศแล้วให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ ใครเข้ามาอยู่ตรงนี้ได้สิทธิประโยชน์สูงสุดของบีโอไอที่พึงให้ได้ อีกอันที่เรารออยู่คือ การยกเว้นภาษีเงินได้ให้นักวิจัยที่เข้ามาอยู่ในฟู้ดส์อินโนโพลิสเป็น 0% กำลังเตรียมการร่วมกับกระทรวงคลัง ถ้าทำได้เราจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ทำเรื่องนี้ ที่ให้ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาก็ได้ด้วย เราจะได้หัวกะทิจากทั่วโลก

มั่นใจว่าจะได้รับความสนใจมาก เพราะมีของดีเต็มไปหมด พื้นที่ย่านนั้นมีหน่วยงานที่มีอยู่แล้วของไบโอเทค ที่จัดเก็บเป็นธนาคารจุลินทรีย์ขนาดใหญ่ จุลินทรีย์แต่ละตัวเงินทั้งนั้น บางตัวใช้ทำยา บางตัวทำอาหาร บางตัวเอาไปใช้ย่อยขยะ จะหาได้จากไหน ถ้าเข้ามาอยู่ตรงนี้ก็ขอใช้ได้ ยังมีศูนย์นาโนเทค เอ็มเทค ฯลฯ ครบเลย แล้วยังมี เอไอที ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีดอนเมืองที่จะให้เดินทางได้ง่าย จะมีรถไฟฟ้า 2 สาย มีตลาดไทย เหนือขึ้นไปมีนิคมอุตสาหกรรม

ถ้าตรงนี้เกิดต่อไปจะเกิดนิคมอาหารตามมา แต่ที่ฟู้ดส์อินโนโพลิสจะไม่มีการผลิต ทำเรื่องนวัตกรรมทำวิจัยอย่างเดียว แต่ผู้ที่จะเอาผลงานในนี้ไปใช้จะได้สิทธิประโยชน์อย่างไรจะพิจารณากันอีกที เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ต่อไปถ้าคนเห็นดีเห็นงามก็ไปขยายตั้งของตัวเองได้เลย

ประกาศลุยงานหนักกันทั้งปีเลย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559