จับเข่าคุยอธิบดีใหม่กรมประมง กับความคาดหวังสูงปลดบ่วงไอยูยู

27 เม.ย. 2559 | 10:00 น.
จากที่ได้มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการบริหารราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง โอนไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วให้ นายอดิศร พร้อมเทพ รองอธิบดีกรมประมง มาดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมประมงคนใหม่

"ฐานเศรษฐกิจ" ไม่รอช้า บุกสัมภาษณ์พิเศษ "อดิศร"ถึงภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู ฟิชชิ่ง ที่ไทยถูกสหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบเหลืองมาครบ 1 ปีเต็ม ก่อนที่ไทยจะต้องไปรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูในเดือนพฤษภาคมนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

 ภารกิจเร่งด่วน

"อดิศร" กล่าวว่า การมารับตำแหน่งและภารกิจสำคัญที่จะแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายรู้สึกกดดัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องพยายามทำเต็มที่และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาได้รับคำสั่งให้มาช่วยงานหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคมสมัยที่มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเปลี่ยนเป็นพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังให้มาช่วยงานอยู่เป็นระยะๆ

"ผมเป็นรองหัวหน้าคณะเจรจากับทางสหภาพยุโรป (อียู) เรื่องไอยูยู โดยมีคุณวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นหัวหน้าคณะเจรจา นอกจากนี้ยังมี พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ เสนาธิการทหารเรือ และ คุณวิมล จันทรโรทัย อดีตอธิบดีกรมประมง อยู่ในคณะเจรจา ผมรู้เรื่องพอสมควร และทราบปัญหาเป็นอย่างดี ยอมรับว่างานเยอะและเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องเร่งทำทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีงาน ที่เกี่ยวข้องกับ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วย"

สำหรับในตัว พ.ร.ก. ที่ออกมามีผลทางกฎหมายในหลายๆ มาตราที่ใช้บังคับเลย ขณะเดียวกันจะมีอนุบัญญัติ หรือที่เรียกว่ากฎหมายลูก ที่มีกฎระเบียบต่างๆ ในรายละเอียด กำลังออกมาเรื่อยๆ แต่คำว่า พ.ร.ก. ชื่อบ่งบอกว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นไม่ได้มีการเตรียมตัว แต่จำเป็นต้องเร่งทำกฎระเบียบออกมา หลายฉบับค่อนข้างล่าช้า ตัวอย่างการออกใบอนุญาต (อาชญาบัตร) เรือประมงพาณิชย์ เพิ่งทำเสร็จไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ เป็นต้น ซึ่งการออกกฎระเบียบ ปัญหาที่ตามมาก็คือชาวประมงเดือดร้อน แต่เราก็ต้องทำ นี่คือปัญหาที่หนักใจ

 แจงทุกฝ่ายต้องอดทน

"อดิศร"กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาพยายามทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชาวประมงอยู่แล้ว แต่ชาวประมงมีจำนวนมากก็คงต้องอาศัยการทำงานผ่านตัวแทนสมาคมที่เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นหลัก ถ้ามีจังหวะและเวลาผมจะหาโอกาสไปพบกับชาวประมงเอง ก็ต้องขอเรียนว่าต้องอดทน บางอย่างเปลี่ยนไปเยอะมากก็อาจจะไม่เข้าใจว่ากฎหมายทำไมถึงมาบังคับในหลายๆ เรื่อง ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน อย่างเช่น จำนวนเรือ และใบอนุญาตที่ทำการประมงมีจำกัด เพราะกฎหมายใหม่ จะต้องใช้ปลาได้ตามปริมาณซึ่งเหมาะสม มิฉะนั้นจะไม่มีความยั่งยืนในท้องทะเลไทย ในที่สุดปลาก็จะหมดทะเล ชาวประมงก็จะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นวันนี้อาจจะต้องลำบากเป็นบางส่วน และสิ่งใดที่เป็นเรื่องใหม่ เราก็พร้อมจะแก้ไขให้ถูกต้อง อย่างเรื่องการออกใบอนุญาตการทำการประมง มีชาวประมงร้องเรียนมา เราก็พิจารณาแก้ไขเป็นกรณีไป"

 ยันความพร้อมเต็มที่

"อดิศร" กล่าวอีกว่า การเตรียมไปหารือและรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนพฤษภาคม ถือว่ามีความพร้อมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความเป็นระบบมากขึ้น นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองเตือนจากอียู ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 ยอมรับว่าช็อก จากนั้นไทยก็ได้เร่งทำทุกเรื่อง แรกๆ ยอมรับว่าวุ่นวายกันมาก เพราะมีเรื่องที่จะต้องทำหลายเรื่อง และจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทางรัฐบาลจึงได้ลงมาช่วยกันตั้งศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้น ทำให้หน่วยงานต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหากัน ในระหว่างการแก้ปัญหาย่อมมีความขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกหน่วยงานมองไปที่เป้าหมายมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ได้ วันนี้ระบบต่างๆ มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ที่สำคัญพร้อมที่จะเดินทางไปตอบโจทย์ครั้งนี้ให้ดีที่สุด

"ผมคิดว่าการไปในครั้งนี้ ไทยมีความก้าวหน้าไปเสนอ คาดว่าทางสภาอียู น่าจะพอใจ สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ยืนยันทางอียูไม่ได้บังคับอะไรเลย เพียงแต่ให้คำแนะนำเท่านั้น ผมคิดว่าเป็นโอกาสในวิกฤติ เพราะเรามีปัญหาเรื่องของการทำประมงมานานมาก รวมทั้งกฎหมายเก่ามาก ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเลย แต่ขณะนี้เรามีกฎหมายใหม่ที่ทันสมัยมาก ผมถือว่า เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการประมงทั้งประเทศ รวมถึงการปฏิรูปกรมประมงด้วย"

  เคยเป็นทูตเกษตรเข้าใจชาติตต.

"อดิศร"กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ในตำแหน่ง อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) จะทำงานต่างๆ อาทิ การตรวจสอบ การติดตาม กฎระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมามาใหม่ รวมถึงประสานกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) เพื่อผลักดันประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่สำคัญประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผลิตสินค้าเกษตรไทย ซึ่งจากการทำงานต่างๆ เหล่านี้ทำให้เข้าใจความคิดของชาติตะวันตก สามารถที่จะวางแนวทางพูดคุยกับเขาได้มากขึ้น

จุดสำคัญที่ทางอียูต้องการติดต่อสื่อสารและเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างที่บอกเขาให้คำแนะนำต่างๆ ระบบคิดของชาติตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป กับความคิดในแบบไทย มีความคิดที่แตกต่างกัน เช่น เราพูดประโยคเดียวกัน คำเดียวกัน แต่ความเข้าใจไม่ตรงกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น มุมมอง หรือบางเรื่องเราบอกว่าไม่เป็นอะไรเลย เป็นวัฒนธรรม เป็นเรื่องธรรมดาของเรา แต่ต่างชาติไม่ได้มองแบบนั้น อะไรที่เราสามารถให้มีคำอธิบาย ซึ่งกันและกันได้ นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559