แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี

26 เม.ย. 2559 | 10:30 น.
นายธนาคารมองครึ่งปีหลังเศรษฐกิจดี-ธุรกิจลูกค้าฟื้น "บัวหลวง"นำร่องลดเอ็มอาร์อาร์ 0.25% ค่ายกสิกรไทยปรับทั้งMRR-MORหวังช่วยเอสเอ็มอี-รายย่อยให้ครอบคลุม ด้าน "กรุงศรี-ทหารไทย"คาดครึ่งปีหลังโครงการภาครัฐดึงภาคเอกชนขยายตัวตามหนุนบรรยากาศการลงทุนในประเทศ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยช่วงที่เหลือว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยข้างหน้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าเศรษฐกิจดี และการดำเนินธุรกิจของลูกค้าสามารถฟื้นตัวหรือพึ่งพาตัวเองได้และอาจส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งสอดคล้องคาดการณ์หลายสำนักที่มองแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะฟื้นดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา

ส่วนการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate)เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบแรกคือ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MLR) นั้น แม้จะช่วยเหลือลูกค้าหรือผู้ประกอบการ แต่ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือลูกค้าส่วนหนึ่งที่มีภาระดอกเบี้ย MRR เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีลูกค้าต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ดีกรีความยากลำบากอาจแตกต่างกัน เช่น บ้างผิดนัดชำระ บ้างปรับลดการลงทุนหรือลดพนักงาน เหล่านี้สะท้อนธนาคารผู้ปล่อยกู้ที่ได้รับข้อมูลจากการลงพื้นที่ดูแลติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด

สอดรับกับนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ที่ระบุว่า ธนาคารได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR และ MOR ลงในอัตรา 0.25%โดยเหลือ MRR และ MOR 7.62% และ 7.12% ตามลำดับ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2559 นี้ เนื่องจากมีความห่วงในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวอยู่ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งการฟื้นตัวของประเทศ โดยกสิกรไทยได้ปรับลดเอ็มแอลอาร์ลง 0.25%เป็นธนาคารแห่งแรกเดือนที่ผ่านมา

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ที่ระบุว่าทิศทางดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าอยู่ในช่วงขาลง โดยระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจแต่โอกาสที่จะปรับลดขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนหนึ่งเพราะสัญญาณดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 3-5 ปีอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังลุ้นภาคธุรกิจมีการลงทุน ซึ่งเซ็กเตอร์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐหรือก่อสร้าง หรือสินเชื่อบุคคลที่ครอบคลุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อเช่าซื้อที่เริ่มกลับมาสร้างบรรยากาศในตลาดและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นอาจจะมีโอกาสเห็นธนาคารขนาดเล็กปรับเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินฝากจากธนาคารใหญ่บ้างเป็นสีสันแต่ไม่ถึงกับสะเทือนตลาด เพราะโดยรวมเชื่อว่าผู้ฝากยังให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งของสถาบันเป็นหลัก อย่างไรก็ตามปีนี้ทีเอ็มบีมองเงินฝากมีโอกาสเติบโต 3.7% ซึ่งเงินฝากออมทรัพย์ขยายตัวที่ 9.3%แต่เงินฝากประจำปรับลด 3.6% สาเหตุจากอัตราผลตอบแทนไม่จูงใจประกอบกับคนหันไปซื้อ Mutual fundหรือ กองทุนรวมแทน

สอดคล้องบทวิเคราะห์ TMB Analytics ระบุแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ในช่วงครึ่งหลังคาดว่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทจากโครงการที่มีการเร่งรัดทำสัญญาแล้วเสร็จในครึ่งปีแรก อาทิ โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งก่อให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตาม กอปรกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ทั้ง การหักค่าเสื่อมราคาได้ 2 เท่า สำหรับการลงทุนทรัพย์สินใหม่ในปีนี้และการเร่งให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือพีพีพีมีส่วนหนุนบรรยากาศการลงทุนและการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องยังเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะ ที่การส่งออกฟื้นตัวช้าจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มทำงานสอดคล้องกันได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่ปรับสู่ระดับปกติที่จะสามารถรองรับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 2.8%ลดลงจากประมาณการเดือนตุลาคมที่ 3.5%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559