มติทันตแพทยสภาหนุน‘ประกันสังคม’ปรับสิทธิประโยชน์ฟันเท่าเทียม‘บัตรทอง-ข้าราชการ’

22 เม.ย. 2559 | 08:12 น.
[caption id="attachment_47197" align="aligncenter" width="503"] 1406 ทพ.ไพศาล กังวลกิจ[/caption]

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ 8 ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมได้มีวาระการพิจารณาเรื่องสิทธิทันตกรรมในระบบสุขภาพของทั้ง 3 กองทุน โดยเมื่อเปรียบเทียบกันพบว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำของการครอบคลุมบริการทันตกรรมที่แตกต่างกันมาก ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังคงเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรมที่ครอบคลุม ทั้งนี้เนื่องมาจากการกำหนดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมที่ค่อนข้างจำกัด มีเพียงการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย ซึ่งปัจจุบันกำหนดเพดานเบิกจ่ายค่าทันตกรรมเหล่านี้ไว้เพียง 600 บาทต่อปี ถือว่าน้อยมาก ขณะที่ในส่วนของการเบิกจ่ายค่าใส่ฟันเทียมยังจำกัดไม่เกิน 4,000 บาทเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเบิกจ่ายที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องสำรองจ่ายค่าหัตถกรรมไปก่อน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้ารับบริการของผู้ประกันตนขณะนี้

ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้สิทธิประโยชน์ ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบันครอบคลุมการทำหัตถกรรมด้านทันตกรรมตามความจำเป็นเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ไปจนถึงการใส่ฟันเทียมซึ่งถือว่าดีกว่ามาก ยกเว้นการรักษาคลองรากฟัน ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทั้งหมด เพียงแต่ข้อจำกัดคือต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามในการผลักดันโดยเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายต่างๆ อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศ เป็นต้น เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรมเท่าเทียมกับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยทันตแพทยสภามองว่าเรื่องการเข้าถึงบริการทันตกรรมเป็นเรื่องสำคัญมากต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันโรคต่างๆ ที่มาจากปัญหาสุขภาพในช่องปาก ดังนั้นประชาชนจึงควรได้รับบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในบริการทันตกรรม ทันตแพทยสภาจึงสนับสนุนให้มีการปรับสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในระบบประกันสังคม รวมถึงการปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง

“เมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของทั้ง 3 ระบบ พบว่าผู้ประกันตนยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการทันตกรรมมากที่สุด ขณะที่เป็นระบบเดียวที่ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่าย แต่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมน้อยที่สุดในช่วง 19 ปี หลังการดำเนินสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในระบบ ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีการจัดตั้งในปี 2545 กลับมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมได้อย่างครอบคลุมเช่นเดียวกับระบบสวัสดิการข้าราชการ จึงเป็นความไม่เท่าเทียมที่ต้องปรับแก้ไข” นายกทันตแพทยสภา กล่าว