‘ไทยยูเนี่ยน’อัด6.5พันล้านลุยอาหาร

28 ก.พ. 2564 | 23:15 น.

เปิดแผน“ไทยยูเนี่ยน” เบอร์ 1 ทูน่าโลก ลุยขยายธุรกิจปี 64 เตรียมลงทุนอีก 6,500 ล้านบาทสร้างโรงงานแปรรูปอาหาร-ห้องเย็นเพิ่ม ชี้โควิดทำธุรกิจทั่วโลกอ่อนแอ เป็นโอกาสช้อปซื้อกิจการ พร้อมร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพต่อเนื่อง มั่นใจปีนี้ยอดขายพุ่ง 1.39 แสนล้าน กำไรโต 17%

ปี 2563 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ทูน่าอันดับ 1 ของไทยและของโลก สามารถทำยอดขายได้ที่ 132,402 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.9% มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 63.7% ในจำนวนนี้เป็นยอดขายจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป 62,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6%, ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็นและสินค้าที่เกี่ยวข้อง 49,605 ล้านบาท ลดลง 5.4%(จากตลาดนักท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารได้รับผลกระทบจากโควิด) และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและอื่นๆ 20,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7%

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผลประกอบการและกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจในปีที่ผ่านมา ไม่ใช่อานิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลให้ทั่วโลกมีความต้อง การอาหารเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้านให้มากขึ้นของธุรกิจในเครือทั่วโลก

ที่สำคัญ อาทิ ที่สหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจปิดสำนักงานของชิคเก้น ออฟ เดอะซี อินเตอร์เนชั่นแนลที่ซานดิเอโกย้ายมารวมกับชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี โฟรเซ่นฟู้ดที่ลอสแองเจลิส โดยได้ควบรวมสองธุรกิจให้อยู่ภายใต้ CEO คนเดียวกัน ขณะที่ในยุโรปมีการปิด 2 โรงงานที่ไม่ประสบความสำเร็จในสกอตแลนด์และเยอรมนี ส่วนในไทยได้ปิดโรงงานปูกระป๋องที่ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชจากขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นต้น นอกจากนี้ได้ลงทุนต่อเนื่องในระบบออโตเมชั่น โรบอต และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารจัดการ ลดการใช้แรงงานคนลง

“ล่าสุดในปี 2562 ทียูได้ออกหุ้นกู้เพื่อลดหนี้สินต่อทุนจากที่กระโดดไป 1.35 ลงมาอยู่ระดับ1.1 ทำให้เราสบายตัวขึ้น และได้จังหวะจากความต้องการสินค้าในช่วงสถานการณ์โควิดสูงขึ้นขณะที่ค่าใช้จ่ายเราลดลงทั้งการลดลงของค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (capex)ที่ตั้งเป้างบไว้ 4,900 ล้านบาท เหลือเพียง 3,700 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดค่อนข้างเข้มแข็งมาก (กระแสเงินสดสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 10,375 ล้านบาท) ซึ่งจะเห็นว่าหนี้สินต่อทุนของเราลดเหลือเพียง 0.94 เท่านั้น ทำให้ในปี 2563 เป็นปีที่เราสบายตัวและสามารถทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่”

สำหรับในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของยอดขายที่ 3-5% (1.36-1.39 แสนล้านบาท) และกำไรขั้นต้น (Gross Margin) ที่ 17% ขณะที่จะใช้งบลงทุนในการขยายการผลิตจาก 3,700 ล้านบาทในปี 2563 เพิ่มเป็น 6,000-6,500 ล้านบาทในปีนี้ โดยการลงทุนที่สำคัญอาทิ การสร้างโรงงานอาหารสำเร็จรูป และโรงงานอาหารโปรตีนไฮโดรไลเซตแห่งใหม่ที่สมุทรสาคร และการสร้างห้องเย็นเพิ่มที่ประเทศกานา เป็นต้น

ผลประกอบการไทยยูเนี่ยน

นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสร่วมลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีอนาคตในหมวดอาหาร ที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อเนื่องจากที่ผ่านมาที่ได้ร่วมลงทุนแล้ว 6 บริษัท ใช้งบลงทุนจากกองทุนร่วมทุนไปแล้วเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเหลืองบร่วมทุนอีก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 600 ล้านบาท)โดยมุ่งหวังบริษัทเหล่านี้จะสามารถเติบโตเป็น Unicorn (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในอนาคต

“สินค้าของไทยยูเนี่ยนเป็นสินค้าอาหารที่มีความจำเป็นและราคาถูก สถานการณ์โลกในปัจจุบันน่าจะยังเป็นโอกาสของเรา นอกจากนี้ในสถานการณ์การเงินของเราที่มีหนี้ที่ตํ่า ทำให้มีความพร้อมในการลงทุนมากขึ้น เชื่อว่าธุรกิจต่างๆ หลังโควิดใน 1-2 ปีข้างหน้าคนที่อ่อนแอจะเห็นมากขึ้น เปิดโอกาสในการลงทุนมากขึ้น บริษัทที่มีความสามารถและมีความพร้อมก็จะได้ประโยชน์ คิดว่าปีนี้น่าจะเป็นโอกาสของไทยยูเนี่ยนทั้งการขยายธุรกิจรวมถึง M&A (การซื้อหรือควบรวมกิจการ) ซึ่งเราก็มองในทุกมิติ” นายธีรพงศ์ กล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564