ทุ่มแสนล.สร้างอุโมงค์ตากสิน กทม. เตรียมเชื่อมทางคนเดินกับ BTS วงเวียนใหญ่

27 เม.ย. 2559 | 00:00 น.
กทม.เปิดแผนก่อสร้างอุโมงค์ทางคนเดิน เชื่อมสถานีบีทีเอสวงเวียนใหญ่-วงเวียนเล็กและพื้นที่ถนนโดยรอบระยะทางกว่า 1.5 กม. คาดลงทุนเกือบแสนล้าน ลุ้นผู้บริหารกทม.เห็นชอบเร่งดำเนินการ เหตุซ้ำซ้อนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ของรฟม.ที่จ่อเสนอครม.อนุมัติประกวดราคา ล่าสุดบอร์ดรฟม.เห็นชอบการปรับกรอบวงเงินลงกว่า 3 พันล้านบาท เร่งเสนอคมนาคมชงครม.อนุมัติ

แหล่งข่าวระดับสูงของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่ กทม.มีแนวคิดปรับภูมิทัศน์บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช(วงเวียนใหญ่-วงเวียนเล็ก)และถนนทุกสายที่เชื่อมต่อกับพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดอุโมงค์ทางคนเดินและทางคนลอด เพื่อทดแทนสะพานลอยคนเดินข้ามและโครงข่ายทางเดินใต้ดินเพื่อเชื่อมต่อทางคนเดินลอดดังกล่าวและสามารถเชื่อมอุโมงค์ทางคนเดินเข้ากับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่จะก่อสร้างไปตามแนวถนนประชาธิปก อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายการสัญจรอื่นๆอาทิ รถโดยสารประจำทางบริเวณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ รถไฟที่สถานีวงเวียนใหญ่ และรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีวงเวียนใหญ่

นอกจากนี้กทม.ยังมีแนวคิดก่อสร้างอุโมงค์รถยนต์ลอดใต้ถนนประชาธิปกเชื่อมระหว่างถนนอรุณอมรินทร์กับถนนสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณทางแยกศึกษานารี (วงเวียนเล็ก) และพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย พร้อมทั้งทางคนเดินลอดบริเวณหน้าโรงเรียนศึกษานารี เป็นทางเดินลอดใต้ถนนประชาธิปก ลอดผ่านจุดตัดทางแยกอรุณอมรินทร์และสมเด็จเจ้าพระยากับถนนประชาธิปก โดยมีขนาดความกว้าง 26 เมตร ความยาว 160 เมตร ทางคนเดินลอดบริเวณสี่แยกบ้านแขก เป็นทางเดินลอดใต้ถนนประชาธิปก ลอดผ่านบริเวณสี่แยกบ้านแขกเพื่อเชื่อมต่อระหว่างถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินตัดกับถนนอิสรภาพ โดยมีขนาดความกว้าง 26 เมตร ความยาว 72.5 เมตร ทางถนนคนเดินใต้ถนนประชาธิปก ช่วงจากโรงเรียนศึกษานารีถึงวงเวียนใหญ่ ความกว้าง 26 เมตร ความยาว 680 เมตร ทางคนเดินใต้ถนนรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน(วงเวียนใหญ่) ความกว้าง 50 เมตร ความยาว 420 เมตร ทางคนเดินใต้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ช่วงจากวงเวียนใหญ่-แยกตากสิน ความกว้าง 26 เมตร ความยาว 660 เมตร และทางคนเดินใต้ถนนอิสรภาพ ช่วงจากแยกบ้านแขก-หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ความกว้าง 14 เมตร ความยาว 460 เมตร

"คาดว่าจะใช้งบประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเร่งสรุปข้อมูลนำเสนอผู้บริหารกทม.เร่งผลักดันต่อไปเนื่องจากมีแนวทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่รฟม.อยู่ระหว่างเร่งนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการประกวดราคาในเร็วๆนี้ เบื้องต้นได้ประสานความร่วมมือต่อกันซึ่งรฟม.จะกันพื้นที่รองรับเอาไว้ก่อน หากกทม.มีความพร้อมก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที ส่วนกรณีจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ร้านค้าตามแนวทางเดินด้วยหรือไม่นั้นต้องให้ผู้บริหารระดับสูงของกทม.เคาะความชัดเจนโดยเร็วต่อไป"

ทั้งนี้ปัจจุบันแนวเส้นทางต่อจากจุดวงเวียนใหญ่นั้น กทม.อยู่ระหว่างการเร่งรัดการก่อสร้างอุโมงค์มไหสวรรย์ที่ปัจจุบันคืบกว่า 70% คาดเปิดใช้ปลายเดือนกันยายนนี้ โดยสำนักการโยธา กทม.รับผิดชอบดำเนินการซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรเร่งด่วนระยะกลางของกทม. ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รองผู้ว่าการรฟม.กล่าวว่าผลการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 ได้อนุมัติผลการปรับลดกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ที่สามารถปรับลดลงไปได้อีกเกือบ 3,000 ล้านบาท จากเดิมวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และกรณีการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์กรณีทางขึ้น-ลงช่วงสนามไชยและอาคารเทเวศร์ประกันภัย ถนนราชดำเนิน

"เร่งเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการประกวดราคาก่อสร้างต่อไป เพราะรัฐลงทุนเอง ส่วนกรณีการร่วมทุนคงต้องนำเสนอตามในระยะต่อไป รฟม.คงไม่รอความชัดเจนของกทม.แต่จะกันพื้นที่รองรับไว้ให้ หากมีความพร้อมกทม.ก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันทีโดยจะต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวดด้วย ขณะนี้เห็นเพียงแบบเบื้องต้นคร่าวๆของกทม.แล้วซึ่งที่ปรึกษาจะต้องนำไปประกอบการออกแบบ และผู้รับเหมาก่อสร้างสายสีม่วงก็จะต้องไปดำเนินการกันพื้นที่เอาไว้ให้กทม.ต่อไป"

Photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559