จัดใหม่ระบบพัฒนานวัตกรรม เร่งเครื่อง ‘ไทยแลนด์4.0’ ทะยาน

27 เม.ย. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนประชารัฐ ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนไทย รัฐมนตรีมาเป็นประธานที่ประชุม โดยมีหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมงานพร้อมเพรียงนั้น คณะทำงานขับเคลื่อนแต่ละด้านมีเวลาจำกัดในการชี้แจงที่ประชุม เนื่องจากมีถึง 12 ด้าน หลังการประชุม"กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการและประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการเอสซีจี หัวหน้าทีมภาคเอกชนในคณะทำงานประชารัฐ ด้านยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ (Innovation&Productivity) แจกแจง"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงรายละเอียดเนื้องานที่เตรียมเสนออีกครั้ง

[caption id="attachment_47360" align="aligncenter" width="700"] ข้อเสนอปรับโครงสร้างองค์กรระบบวิจัยของอนุกรรมาธิการขับเคลื่อน ข้อเสนอปรับโครงสร้างองค์กรระบบวิจัยของอนุกรรมาธิการขับเคลื่อน[/caption]

ปลุกซีอีโอกล้าลงทุนR&D

กานต์กล่าวว่า จริง ๆ วันที่เราเสนอมีเวลาจำกัดมากแค่ 6 นาทีกว่า ๆ เอง แต่เป็นแผนงานที่จับต้องได้ เป็นไปได้ เวลานี้นอกจากเรื่องประชารัฐแล้ว ภาครัฐเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายกฯ มานั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.)ด้วยตนเอง ซึ่งผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

ในรอบปีที่ผ่านมามีผลงานออกมาที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาดีมาก ๆ เพราะนายกฯมาประชุมเองทุบโต๊ะเอง ผมเป็นกรรมการมา 6-7 ปีไม่เคยมีนายกฯมานั่งประชุมเอง แต่ท่านประยุทธ์มาเอง ทำให้คืบหน้าไปได้เร็วมาก รวมทั้งที่อยู่ระหว่างเตรียมการก็มีอีกตั้งเยอะ

เพียงแต่กรอบแนวคิดของผู้นำเอกชนเองต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าเราปูไว้ให้หมดแล้วทุกอย่างแต่ยังไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ลงทุนเสียที ยังกลัวนั่นกลัวนี่อยู่ แน่นอนการลงทุนเรื่องการวิจัยมีความเสี่ยง เพราะอาจไม่ได้ผลก็ได้ แต่ถึงไม่ได้ผลอย่างน้อยก็เป็นความรู้ว่าไม่ได้ผล ก็อยากให้มาช่วยกันลงทุนจริง ๆ จัง ๆ ประเทศไทยจะได้ขับเคลื่อนได้ เพราะพูดตรงกันหมดแล้วเวลานี้ มีทางเดียวเท่านั้นคือเรื่องนวัตกรรม

4กุญแจความสำเร็จ

ส่วนที่ประชุมติดตามความคืบหน้าสานพลังประชารัฐมีนายกฯเป็นประธานนั้น "กานต์"รายงานความคืบหน้าคณะทำงานประชารัฐ ด้านยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ(กลุ่มดี1) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสานพลังประชารัฐ คือ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ภาคธุรกิจสะท้อนมุมมองว่า ปัจจัยสำคัญประกอบด้วย 1.การลงทุนวิจัยและพัฒนาของบริษัทขนาดใหญ่อย่างเต็มกำลัง เพื่อผลักดันนวัตกรรมองค์กร 2.การให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลิตภาพของบริษัทขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 3.ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี(Tech-Startup) ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ และ4.ปรับโครงสร้างระบบบริหารจัดการการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ให้มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน มีการวางและดำเนินกลยุทธ์ในทิศทางเดียวกัน

ให้SET100รายงานบัญชีR&D

คณะทำงานจึงมีข้อเสนอเพื่อการผลักดัน คือ 1.ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องรายงานค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง ที่จะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงสร้างสังคมนักวิจัยให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในภาพรวมของประเทศที่ระดับ 1 % ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.48 % เพิ่มประชากรนักวิจัยจากที่มีอยู่ในอัตรา 10 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีมากกว่าถึง 7 เท่า

2. จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม อาทิ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP -Industrial Technology Assistant Program) หรือ คูปองนวัตกรรม เพื่อยกระดับผลิตภาพบริษัทขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน โดยจะเป็นโครงการให้บริการคำปรึกษา จัดหาผู้เชี่ยวชาญ คัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม จนถึงสนับสนุนเงินทุนให้ ซึ่งหากได้รับงบเพียงพอตั้งเป้า 5 ปี(2560-2564) จะให้บริการความช่วยเหลือคูปองนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการได้ 1.26 พันราย พัฒนานวัตกรรม 3 พันราย เพิ่มผลิตภาพ 1 หมื่นราย ให้คำปรึกษาเบื้องต้น 2.6 หมื่นราย และพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 2.28 พันราย เป็นต้น เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพิ่มผลิตภาพผู้ประกอบการขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ตั้งวงธุรกิจใหญ่-เล็กทำวิจัย

3.เสนอจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน(R&D Consortium) โดยเป็นความร่วมมือของธุรกิจขนาดใหญ่และย่อม มาร่วมกำหนดโจทย์วิจัยและแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกในการสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่งโจทย์วิจัยอาจเป็นระดับเทคโนโลยีพื้นฐาน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ในภาพรวมของอุตสาหกรรมก็ได้ เมื่อได้โจทย์ความต้องการชัดเจนแล้ว ก็ให้สถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยที่สนใจ ทำโครงการเสนอเพื่อขอรับทุนวิจัยจากConsortium ต่อไป

วิธีนี้จะเป็นการช่วยลงขันลงทุน แบ่งปันบุคลากรเพื่อลดความเสี่ยงการทำวิจัย สมาชิกเข้าถึงเทคโนโลยีพื้นฐานอย่างรวดเร็ว ลดเวลาการทำนวัตกรรม กระจายมาตรฐาน และยกระดับอุตสาหกรรมในระดับชาติ ดังกรณีศึกษากลุ่มเทคโนโลยีการบินและอากาศยานของสิงคโปร์ ที่รวบรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการบิน อาทิ โบอิ้ง, แอร์บัส, บอมบาร์ดิเอร์, จียี โรลส์-รอยซ์, แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์, ฮันนีเวลล์ พานาโซนิค ร่วมลงทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีเฉพาะ ตอบโจทย์เป้าหมายประเทศที่มุ่งเป็นผู้นำธุรกิจการบิน การซ่อมบำรุง การผลิตและประกอบเครื่องบินและเครื่องยนต์อย่างชัดเจน

จัดใหม่โครงสร้างพัฒนานวัตกรรม

4.การช่วยเหลือด้านกฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา บัญชี และบริการที่ปรึกษาแนะนำแก่กิจการ Tech-Startup เพราะจากประสบการณ์ในหลายประเทศ การส่งเสริมTech-Startup นอกจากด้านการเงินและยกเว้นภาษีแล้ว ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญคือ การสนับสนุนที่ปรึกษา(Mentor) ด้านเทคโนโลยี ตัวอย่างของสิงคโปร์ อนุญาตให้อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยสถาบันวิจัยของรัฐ ไปนั่งเป็นผู้บริหารเทคโนโลยีของบริษัทได้ หรือโครงการพี่ช่วยน้อง จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินธุรกิจจากบริษัทใหญ่สู่กิจการเกิดใหม่ รวมถึงความช่วยเหลือคำปรึกษาด้านบริหารธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี กฎหมาย และการวางกลยุทธ์ทรัพย์สินทางปัญญา จะช่วยให้Tech-Startup มีแนวโน้มประสบความสำเร็จเร็วขึ้น

5.คณะทำงานมีข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการและการดำเนินงานเพื่อนวัตกรรม โดยร่วมมือจัดตั้ง"หน่วยงานวิจัยกลาง"ขึ้นมา โดยมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ตลอดจนเอกชน รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาไทยขาดความเชื่อมโยงงานวิจัยจากสถาบันการศึกษา ไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยกลางนี้เป็นโมเดลเดียวกับที่สิงคโปร์ใช้จนประสบความสำเร็จแล้ว

ในกรณีตัวอย่างของสิงคโปร์นั้นมีการวางโครงสร้างชัดเจนเชื่อมโยงทั้งระบบ โดยกลยุทธ์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ถูกกำหนดโดย Research,Innovation and Enterprise Council (RIEC) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สมาชิกประกอบด้วย รัฐมนตรีด้านพาณิชย์ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษา สาธารณสุข และกลาโหม Singapore Economics Development Board(EDB) ตลอดจนซีอีโอของบริษัทระดับโลก อธิการบดี นักวิจัยชื่อดังจากมหาวิทยาลัย ร่วมกำหนดนโยบายการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง รวมทั้งสนับสนุนงบ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะ 5 ปี

ส่วนการวิจัยประยุกต์เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ Translational Research อยู่ในความรับผิดชอบของA*Star ช่วยปิดช่องวางของการวิจัยเชิงวิชาการและการนำเทคโนโลยีไปใช้โดยเอกชน ทำให้ความรู้จากการวิจัยถูกต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

ชงเลิกก.ม.ล้าหลัง 5 พันฉบับ

แนวทางในการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบพัฒนานวัตกรรมไทยนั้น คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อนวัตกรรม สปท.ได้ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ตามแนวทางสิงคโปร์ไว้ให้พิจารณาแล้ว โดยคาดหวังให้เกิดเอกภาพ สอดคล้องกันทุกระดับจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากการวิจัยให้เกิดผลเชิงพาณิชย์

ส่วนการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจนั้น เป็นข้อเสนอเร่งด่วน(Quick Win) ให้เร่งรัดแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 5 ด้าน ได้แก่ ศุลกากร อาหารและยา การตรวจคนเข้าเมือง ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ และกฎหมายผังเมือง โดยในระยะเริ่มต้นภาคเอกชนได้ลงขัน 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างชาติ มาศึกษาวิจัยและทำข้อเสนอแนะแล้ว หากภาครัฐเห็นชอบจะเดินหน้าพัฒนาต่อในระยะที่ 2 มีเป้าหมายจะยกเลิกกฎหมาย 5 พันฉบับภายในเดือนสิงหาคม 2560 เพื่อยกอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการลงทุน จากอันดับ 49 ขึ้นเป็น 1 ใน 20 อันดับแรกของโลกภายในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559