กสทช.ใช้ไทยพีบีเอสเป็นต้นแบบยุติออกอากาศทีวีอนาล็อค

20 เม.ย. 2559 | 09:37 น.
Breaking-News นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจาย-เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ทวิตข้อความ เกี่ยวกับการยุติออกอากาศระบบทีวีอนาล็อก ว่า กระบวนการยุติระบบทีวีอนาล็อก เป็นกระบวนการสำคัญในทุกประเทศ เนื่องจากเป็นสิ่งที่กระทบสิทธิของประชาชนในการรับชมโทรทัศน์ การดำเนินการยุติระบบทีวีอนาล็อก จำเป็นต้องกระทำด้วยความรอบคอบอย่างเป็นขั้นตอน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด บริบทของแต่ละประเทศมีความแตกต่าง การยุติระบบทีวีอนาล็อกจึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศนั้น

กรณีของประเทศไทย การยุติระบบทีวีอนาล็อกจะดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน คือ ค่อยยุติการออกอากาศไปทีละช่อง และทีละพื้นที่ ในกรณีที่ประชาชนยังรับบริการโทรทัศน์ผ่านระบบอนาล็อก ก็จะรับทราบว่าทีวีค่อยๆ หายไปครั้งละช่อง ในแต่ละห้วงเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ ก็จะจำกัดพื้นที่ในวงที่ไม่กว้างจนเกินไป ถ้ายังต้องการรับบริการให้ครบถ้วน ตามที่เคยได้รับ ก็ต้องเปลี่ยนไปรับชมผ่านระบบดิจิตอล ปัจจุบันมีการนำร่องไปแล้วบางพื้นที่ เช่น เกาะสมุย สุราษฏร์, ไชยปราการ เชียงใหม่ โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นสถานีแรก ผลจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ เกาะสมุย และไชยปราการ จะไม่สามารถชมช่องไทยพีบีเอส แต่จะสามารถชมช่องทีวีอนาล็อกอื่นๆ ได้

การดำเนินการจะนำร่องโดยช่องไทยพีบีเอส ในปีนี้จะมากถึง 24 จังหวัด โดยจังหวัดที่สำคัญในห้วงนี้ก็คือ อำนาจเจริญ กับ อุบลราชธานี ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำนาจเจริญ กับ อุบลราชธานี จะไม่สามารถรับชมไทยพีบีเอสผ่านระบบอนาล็อกได้ตั้งแต่ 31 พ.ค. นี้เป็นต้นไป แต่ประชาชนในทั้งสองจังหวัดจะยังสามารถรับชมช่องอนาล็อกอื่นๆ ได้เช่นเดิม จนกว่าช่องอื่นๆ จะเริ่มทยอยยุติการออกอากาศตามลำดับ โดยช่อง 5 ช่อง 9 และ ช่อง 11 จะทยอยยุติการออกอากาศในปี 2559 - 2561 ค่อยๆ ส่งผลให้มีช่องอนาล็อกเหลือน้อยลงในแต่ละพื้นที่

"ผมคิดว่าการยุติระบบทีวีอนาล็อกในลักษณะดังกล่าว เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ครับ" ดร.นทีกล่าว