บ้านสมเด็จโพลล์เผยผลสำรวจคนกรุงต่อการรับชมทีวีดิจิตอล

20 เม.ย. 2559 | 08:00 น.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับทีวีดิจิตอล โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,142 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 4 - 11 เมษายน 2559 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องทีวีดิจิตอล หลังจากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช.) มีการจัดเรียงช่องในทุกระบบการรับสัญญาณทีวีดิจิตอล  และในวันที่ 25 เมษายน 2558 เป็นการครบรอบ 2 ปีในการออกอากาศของทีวีดิจิตอลที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อทีวีดิจิตอล มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าการรับชมทีวีดิจิตอลทำให้ท่านได้รับชมรายการต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้นร้อยละ 81.3  ไม่ใช่ ร้อยละ 13.1 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 5.6             และรับชมทีวีดิจิตอลผ่านกล่องแปลงสัญญาณดิจิตอล (set-top-box) มากที่สุด ร้อยละ 34.1 รองลงมาคือผ่านทางจานดาวเทียม ร้อยละ 22.5 และผ่านทางเคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 15.6 บางส่วนไม่แน่ใจว่ารับชมผ่านระบบใดร้อยละ 27.8

การรับชมทีวีดิจิตอลจากสถานีโทรทัศน์ 3 HD เป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 12.1 อันดับที่ 2 คือ สถานีโทรทัศน์ 7 HD ร้อยละ 11.2 อันดับที่ 3 คือ สถานีโทรทัศน์ เวิร์คพอยท์ ทีวี ร้อยละ 10.8 อันดับที่ 4 คือ สถานีโทรทัศน์ ONE  ร้อยละ 10.0 อันดับที่ 5 คือ สถานีโทรทัศน์โมโน 29 ร้อยละ 9.6

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ รับชมรายการประเภทข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์ 7 HD  เป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 15.6 อันดับที่ 2 คือ สถานีโทรทัศน์ 3 HD ร้อยละ 15.2  อันดับที่ 3 คือ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ร้อยละ 10.4 อันดับที่ 4 คือ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ร้อยละ 7.2 อันดับที่ 5 คือ สถานีโทรทัศน์ GMM Channel  ร้อยละ 6.2

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ รับชมรายการประเภทละครและบันเทิง จากสถานีโทรทัศน์ 3 HD เป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 18.9 อันดับที่ 2 คือ สถานีโทรทัศน์ 7 HD ร้อยละ 18.3 อันดับที่ 3 คือ สถานีโทรทัศน์ ONE ร้อยละ 14.1 อันดับที่ 4 คือ สถานีโทรทัศน์ GMM Channel  ร้อยละ 10.6 อันดับที่ 5 คือ สถานีโทรทัศน์ 8 ร้อยละ 7.8 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ทีวีดิจิตอลพัฒนารูปแบบรายการประเภทละครเป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 19.8อันดับที่ 2 คือ รายการประเภทเกมโชว์ ร้อยละ 18.8 อันดับที่ 3 คือ รายการประเภทข่าวสาร ร้อยละ 16.6 อันดับที่ 4 คือ รายการประเภทสารคดี ร้อยละ 15.3 อันดับที่ 5 คือ รายการประเภทภาพยนตร์ ร้อยละ 15.2