ถม 1.13 แสนล้าน ไม่ก่อหนี้ครัวเรือนยํ้าต่างกองทุน SML

22 เม.ย. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การพัฒนาฐานรากให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้มั่นคงหน้าที่บริหารจัดการหลักคงหนีไม่พ้นกระทรวงมหาดไทยเพราะใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกี่ยวก้อยหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ อย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ "สตาร์ตอัพ"อัดฉีดเม็ดเงินกระตุกรากหญ้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558
ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่"กฤษฎา บุญราช" เข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เข้ามารับลูกสานต่อโปรเจ็กต์สำคัญ ๆ ที่ต้องเร่งผลผลิตให้ออกมาจนถึงปัจจุบันรวมเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1.13 แสนล้านบาท "ฐานเศรษฐกิจ"ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เกาะติดภารกิจสำคัญดังนี้

 ความคืบหน้าขับเคลื่อนประชารัฐ

เมื่อถามถึงประเด็นฮอตโครงการล่าสุด"ประชารัฐ" นายกฤษฎาเริ่มต้นอธิบายว่า โครงการประชารัฐ เป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล รูปแบบจะเน้นเรื่องอาชีพปากท้องเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่กระทรวงมหาดไทย จะดูแลรับผิดชอบ ยังมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดูแล อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น โดยใช้วิธีบริหารจัดการแบบบูรณาการ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ และภาคเอกชน และที่เห็นเด่นชัดผลกระทบภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต่างถูกจับไว้เป็นหนึ่งในโครงการประชารัฐเพราะเกี่ยวเนื่องกับการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และการรักษาสิ่งแวดล้อม

 แล้งต่อยอดโครงการประชารัฐ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า เมื่อภัยแล้ง ต้องทำให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพ จึงเข้าสู่โครงการประชารัฐ โดยเฉพาะการปลูกพืชใช้น้ำน้อย นอกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาให้ความรู้และ ช่วยเหลือเกษตรกร เช่นพาณิชย์จะรู้ว่าในพื้นที่ที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ โดยจะกำหนดสัดส่วนพื้นที่และวิธีการ การลดต้นทุนโดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะดูแลในภาพรวมโดยยังย้ำต่อว่า ไม่เพียงแต่ที่มาของประชารัฐแต่ให้คิดทำงานร่วมกันระหว่างรัฐงานเอกชนที่เรียกว่าคณะกรรมการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

ปลัดกระทรวงมหาดไทยยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สมมติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีที่นา 8 หมื่นไร่ ปกติทำนา 2-3 ครั้งต่อปี แต่ปีนี้น้ำน้อยไม่เพียงพอ ก็จะบอกให้ เกษตรกรที่ปลูกข้าวลดพื้นที่ปลูกลง จาก 8 หมื่นไร่เหลือ 2 หมื่นไร่ ที่เหลือปลูกแตงเมลอน แน่นอนเกษตรจังหวัด อำเภอจะรู้ แต่จะต้องถามเอกชนด้วยถ้า เอกชนมีเมล็ดพันธุ์ มีวิธีการปลูกโดยเอาโนว์ฮาวของเอกชนมาช่วยเมื่อมีผลผลิตก็นำออกขาย ซึ่งก็ให้เอกชนช่วยระบายสินค้าให้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

" นี่คือรูปแบบภาคราชการ โดยมีกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวประสานและตัวกำกับในพื้นที่ การทำครั้งนี้เป็นครั้งแรกโดย 3 เดือนแรก จะสร้าง 5 จังหวัด 4 ภาค และจะขยายให้ครบโดย 1 ปีจะขยายให้ครบทั้ง 76 จังหวัด ที่ผมในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นสตาฟฟ์โครงการประชารัฐที่คิดคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา "

 อัดฉีดงบ 3 ก้อนคืบหน้าไปมาก

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า การกระตุกเศรษฐกิจฐานราก ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่ที่ผ่านมา ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 ก่อนหน้าที่เขาจะมารับตำแหน่งปลัดกระทรวงหมาดไทยเพียง 1 เดือน คือ โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน ก้อนแรก คือโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอรูปแบบเพิ่มเติมที่แตกต่างไปจากงานโครงการรัฐปกติทั่วไป โดยโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท จะมอบให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้เสนอ เช่น พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดสระ เป็นต้น เพื่อให้นำเงินดังกล่าวมาจ้างงานหมุนเวียนในพื้นที่และได้ใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน ซึ่งล่าสุดมีความคืบหน้าไปมาก ขณะเดียวกันก็มีการตรวจสอบและติดตามผล จากกรอ.จังหวัด สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น

โดยงบประมาณทั้งหมด 36,275 ล้านบาท เบิกจ่ายจากวันที่ 1 กันยายน 2558 ก้อนแรก 31,000 ล้านบาท เมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 อนุมัติไป 35,755.87 ล้านบาท รวมก่อหนี้ทั้งหมด 34,453.34 ล้านบาท หรือ 96.36% เบิกจ่าย 20,223.90 ล้านบาท หรือ 56.56% PO คงเหลือ 14,229.43 ล้านบาท หรือ 39.80% มียกเลิกโครงการ 323.55 ล้านบาท หรือ 0.90% ติดปัญหาขอใช้พื้นที่ป่าสงวนพื้นที่อุทยานรวม 202.98 ล้านบาท หรือ 0.57 % โดยมีเงินเหลือจ่าย 776 ล้านบาท หรือ 2.17%

ตัวเลขมองว่าสำเร็จเชิงปริมาณแต่เรากำลังประเมินด้านคุณภาพแต่ 31,000 ล้านบาท ที่เทลงไปเกิดประโยชน์ เช่น แหล่งน้ำ ซ่อมสาธารณูปโภคประชาชนมีการจ้างงาน ซึ่งสำเร็จไป 70% คือได้รับประโยชน์ และชาวบ้านเขารู้ว่าน้ำแล้ง ก็ช่วยกันทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 การร้องเรียนและตรวจสอบ

เรื่องการร้องเรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทยอธิบายว่า การร้องเรียนไม่ใช่ครั้งแรกโดยยกตัวอย่างไปถึงโครงการรัฐบาลชุดก่อนๆ ว่า เดิมมีพัฒนาหมู่บ้านเอสเอ็มแอล และ หากเทียบโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท กลับมีเรื่องร้องเรียนน้อยมากไม่เกิน 10 เรื่องในจำนวนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ ที่มีหลักฐานชัดเจนแน่ ซึ่งพบว่า มีการขอเงินทอนแล้วอัดเสียงชัดเจนได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนทางกฎหมาย ซึ่งจะอยู่ภาคอีสาน ซึ่งเราใช้งบ 34,000 ล้านบาท ที่อนุมัติไปแล้ว แบบไม่รั่วไหล อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ มีการตราหน้าว่า "เงิน 5 ล้านเหมือนไอติมแท่ง กว่าจะถึงท้องที่จะเหลือแค่แท่งไอติม"ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง

เพราะได้รับความร่วมมือจากรัฐด้วยกันช่วยเป็นหูเป็นตา อาทิ ป.ป.ช. ป.ป.ท.และสตง. ทั้ง 3 หน่วยหากพบร่องรอยแจ้งกลับมท. พบเรื่องร้องเรียนให้เราสอบเองก่อน นอกจากนี้ ยังมีงบสร้างอาชีพ/สร้างรายได้ วงเงิน 3,200.96 ล้านบาท เริ่มเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ผลการดำเนินงาน วงเงินอนุมัติ 3,200.96 ล้านบาท จำนวน 3,827โครงการ รวมก่อหนี้ ทั้งหมด 2,726.99 ล้านบาท หรือ 85.19% เบิกจ่าย 2,280.11 ล้านบาท หรือ 71.23% คงเหลือ 446.88 ล้านบาท หรือ 13.96% ยกเลิกโครงการ 146.74 ล้านบาท หรือ 4.58% เงินเหลือจ่าย 327.30 ล้านบาท หรือ 10.22% อีกทั้งงบสนับสนุน เครื่องจักร 254.28 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน วงเงินอนุมัติ 254 .28 ล้านบาท รวมก่อหนี้ ทั้งหมด 230.48 ล้านบาท หรือ 90.64% เบิกจ่าย176.03 ล้านบาท หรือ 69.24 %

 อัดอีกหมู่บ้านละ 2 แสน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังสนับสนุน งบประมาณวงเงิน 15,000 ล้านบาท อัดฉีดหมู่บ้านละ 2 แสนบาท โดยมอบให้คณะกรรมการหมู่บ้านเสนอและทำหน้าที่ตรวจรับโดยเงินจะโอนผ่าน ธอส.-ออมสิน เบิกโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอกำกับดูแลขอบข่ายจะเน้นเพื่อ 1.ขยายการทำกินแนวพระราชดำริ 2. น้ำกินน้ำใช้ 3.สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเห็นชอบ ห้าม ไปจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ขนาดใหญ่ ไปทำโครงการที่สาธารณะ ป่า และห้ามซื้อของแจก โดยเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 และต้องเห็นผล ภายใน 90 วัน

 ไม่กระตุ้นจีดีพีแต่ไม่สร้างหนี้

อย่างไรก็ดี งบตำบลละ 5 ล้านบาท และงบสร้างอาชีพฯลฯ ที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบไม่ช่วยกระตุ้นจีดีพี แต่ข้อดี จะไม่สร้างภาระหนี้ครัวเรือน กลับกันเป็นการสร้างสาธารณประโยชน์ที่ได้เปล่าให้กับชุมชน สร้างวินัยการเงิน ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เขาคุมเฉพาะเงินให้เป็นไปตามโครงการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ สร้างถนน หากสร้างเสร็จรถสามารถวิ่งเชื่อมถึงหมู่บ้านและสามารถรับซื้อสินค้าเกษตรถึงพื้นที่ได้

  รวม 1.13 แสนล้านสร้างฐานราก

อีกโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน นั่นคือ เงินเหลือจ่ายสะสม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,000 แห่งทั่วประเทศ เหลือจ่ายสะสมรวม เป็นเวลา 4 ปี 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งฝากในนามเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งจะให้แต่ละท้องถิ่นเบิกจ่ายไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งน้ำ ห้ามนำเงินไปซ่อมสร้างที่ทำการ ซื้อรถ ห้ามทัวร์หรือดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีอีก 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นโครงการของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อรวมงบอัดฉีดที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ประกอบด้วย งบตำบลละ 5 ล้านบาท ที่อนุมัติไป 3.5 หมื่นล้านบาท งบสร้างอาชีพ/รายได้ 3,200ล้านบาท งบสนับสนุนเครื่องจักร 254.28 ล้านบาท งบ 1.5 หมื่นล้านบาท หมู่บ้านละ 2 แสนบาท เงินสะสมเหลือจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 หมื่นล้านบาท รวม 1.13 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559