พีทีทีจีซียื่นขอบีโอไอ9หมื่นล้าน เร่งลงทุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมีดันเพิ่มมูลค่าอ้อย/มัน4แสนล้าน

22 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
คลัสเตอร์ปิโตรเคมีเดินหน้า พีทีทีจีซี ประเดิมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท สนองนโยบายเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล ตามกรอบการลงทุนของภาคเอกชนที่เสนอมา 3.8 แสนล้านบาทภายในระยะ 5 ปี ขณะที่ "ประเสริฐ" ดัน " Bioeconomy" สร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยและมันสำปะหลังช่วง 10 ปี ลงทุน 4 แสนล้านบาท มีกลุ่มปตท.และมิตรผล รับเป็นเจ้าภาพ

[caption id="attachment_46324" align="aligncenter" width="700"] แผนการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีระยะ 5 ปี แผนการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีระยะ 5 ปี[/caption]

แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ที่มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ที่พยายามเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น

โดยขณะนี้พบว่า มีนักลงทุนได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอแล้วกว่า 10 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นการลงทุนปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพของกลุ่มบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ได้มีการวางแผนการดำเนินงานไว้แล้ว และเพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายของภาครัฐในการเร่งรัดลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์สูงสุด หากมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปีนี้ จะเปิดดำเนินการภายในปี 2560

ทั้งนี้ การยื่นขอรับการส่งเสริมดังกล่าว ถือว่าอยู่ในกรอบหรือแผนงานที่นักลงทุน ได้มีการหารือเบื้องต้นกับคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแล้ว ที่จะมีการลงทุนในปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในช่วง 5 ปี(2559-2563) งบลงทุนราว 3.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 2559-2560 ประมาณ 1.26 แสนล้านบาท ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพ 8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน 4.52 หมื่นล้านบาท และเป็นการลงทุนจากปี 2561 เป็นต้นไปอีกประมาณ 2.56 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพ 1.06 แสนล้านบาท และลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานอีก 1.49 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ เนื่องจากคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พยายามที่จะผลักดันให้มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนให้ได้ทั้งหมดภายในเดือนดังกล่าว เพื่อที่ทางบีโอไอจะได้มีเวลานำเสนอบอร์ดบีโอไออนุมัติการลงทุนและนักลงทุนได้มีเวลาในการวางแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโครงการและเปิดให้ทันภายในปี 2560

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) พีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เปิดเผยว่า ทางคณะทำงานได้รายงานความคืบหน้าในการทำงานให้ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีในระยะ 5 ปี งบลงทุนประมาณ 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวน่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะส่วนหนึ่งได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานบริการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีองค์กรเฉพาะขึ้นมาดูแลการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวก

ด้านการลงทุนมากยิ่งขึ้นในขณะที่บีโอไอ ก็ได้ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดหากเร่งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปีนี้ นอกจากนี้ ทางคณะทำงานฯ พยายามที่จะเร่งผลักดันให้เกิดการสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มจากพืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้วอย่างอ้อยและมันสำปะหลังหรือ Bioeconomy เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการทำงานไว้ 5-10 ปี ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 2 เท่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 6.5-8.5 หมื่นบาทต่อปี และภายใน 20 ปี จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานชีวภาพมากกว่า 30 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบโดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนแล้ว และมีผู้เสนอตัวที่จะมาลงทุน เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และกลุ่มมิตรผล เป็นต้น และคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนราว 4 แสนล้านบาท เช่น การผลิตเอทานอล ใช้เงินลงทุนราว 2.63 หมื่นล้านบาท โรงไฟฟ้าประชารัฐ 1.48 แสนล้านบาท สร้างโรงงานผลิตไบโอเคมิคัล หรือไบโอพลาสติก เงินลงทุนราว 1 แสนล้านบาท รวมทั้ง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุและวัคซีนขั้นสูง ใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559