แผ่นดินไหวฉุดการผลิตญี่ปุ่น โตโยต้าปิดโรงงานเกือบทั่วประเทศ

21 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
นักลงทุนเกรงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นหยุดชะงักเป็นวงกว้าง จากผลของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกาะคิวชู

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว 2 ครั้งใหญ่บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้โรงงานผลิตหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงไป โดยเฉพาะผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเกาะคิวชูเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 25% ของกำลังผลิตทั้งหมดในญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นที่ตั้งของโรงงานของบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ โซนี่ และโตโยต้า เป็นต้น

นักเศรษฐศาสตร์จากบีเอ็นพี พาริบาส์ คาดการณ์ว่า การผลิตของภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นในเดือนเมษายนจะหดตัวลงเนื่องจากแผ่นดินไหวบนเกาะคิวชู ซึ่งนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2554 เพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศในไตรมาส 2 จะหดตัว

"สภาวะเศรษฐกิจในระดับมหภาคไม่ดีนัก ถ้าค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีกเนื่องจากแผ่นดินไหว ผลกระทบอาจคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง" นายฮิโตชิ ไคเซ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา โรแลนด์ เบอร์เกอร์ ให้ความเห็น อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

โตโยต้า มอเตอร์ ประกาศหยุดการผลิตที่โรงงานในคิวชูเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน และจะทยอยหยุดการผลิตในโรงงานแห่งอื่นๆ อีก 26 แห่งทั่วประเทศในสัปดาห์นี้ เพื่อรับมือกับการขาดแคลนชิ้นส่วน หลังโรงงานผลิตชิ้นส่วนจำนวนหนึ่งบนเกาะคิวชูต้องหยุดการผลิตไป โดยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะกลับมาผลิตเต็มกำลังได้เมื่อใด ทั้งนี้ โตโยต้าและบริษัทในเครือผลิตรถยนต์กว่า 4 ล้านคันในญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 40% ของกำลังการผลิตทั่วโลกของโตโยต้า

ขณะเดียวกัน ฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า จะหยุดการผลิตรถจักรยานยนต์ที่โรงงานในเมืองคุมาโมโตะไปจนถึงวันที่ 22 เมษายน แต่โรงงานอื่นๆ นอกพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจะยังคงดำเนินการตามปกติ ด้านโรงงานในคิวชูของ นิสสัน มอเตอร์ กลับมาผลิตได้อีกครั้งหลังจากหยุดไปชั่วคราว เมื่อประเมินแล้วว่าได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

ด้านโซนี่ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ จำเป็นต้องหยุดการผลิตที่โรงงานผลิตอิมเมจเซนเซอร์สำหรับกล้องดิจิตอลในเมืองคุมาโมโตะนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลกระทบต่อการผลิตอิมเมจเซนเซอร์ที่ใช้กับโทรศัพท์ไอโฟน และสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ จะมีอย่างจำกัด เนื่องจากการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่โรงงานใกล้กับเมืองนางาซากิ ซึ่งสามารถกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้งเป็นที่เรียบร้อย

photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559