นำร่อง4พันบ้านธนารักษ์ฯ! ธอส.-ออมสินให้กู้ยาว 30 ปีผ่อนแค่3,200 บาท

22 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
2 แบงก์ "ธอส.-ออมสิน"ประเดิมวงเงิน 9 พันล้านบาททั้งหนุนผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัย 4 พันล้านคิดดอกเบี้ย 4% ต่อปีระยะเวลาไม่เกิน 2ปี และเพื่อที่อยู่อาศัยอีก 5 พันล้านอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษพร้อมให้ 2 ธนาคารขยายวงเงินตามความเหมาะสม

[caption id="attachment_46644" align="aligncenter" width="503"] โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐนำร่องปี 2559 จำนวน 6 แปลง โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐนำร่องปี 2559 จำนวน 6 แปลง[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (19 เมษายน 2559) ว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โครงการ "บ้านธนารักษ์ประชารัฐ" โดยพัฒนาโครงการบน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ คาดว่าจะมีที่พักอาศัยรวมประมาณ 4 พันยูนิต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างพร้อมกันทั่วประเทศกลางปีหรือเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งเขตกรุงเทพฯนั้นจะมีด้วยกัน 2 แปลงคือ บริเวณซอยวัดไผ่ตันและบริเวณโรงกษาปณ์เก่าถนนประดิพัทธ์ สำหรับข้าราชการที่ทำงานในเขตกรุงเทพเท่านั้น ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดคือ ภาคเหนือ จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายและทางภาคใต้อยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอชะอำ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ทางกรมธนารักษ์จะเรียกประชุมภายในเดือนนี้ เพื่อกำหนดกรอบจนรูปแบบในการพัฒนาโครงการทั้ง 6 พื้นที่ เบื้องต้นจะกำหนดในลักษณะของสัญญาการก่อสร้าง รูปแบบการลงทุนหรือทีโออาร์เพื่อเสนอสำหรับให้เอกชนเข้ามาพัฒนาโครงการ ทั้งนี้เอกชนจะต้องกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการตลอดจนราคาการก่อสร้าง หากรายใดเสนอรูปแบบที่ดีที่สุดกรมฯ ก็จะเลือกให้เอกชนหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้นั้นเป็นผู้ชนะโครงการและดำเนินการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ โดยคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะได้รายชื่อของผู้ลงทุนและเริ่มโครงการลงทุนก่อสร้างได้ทันที หลังจากนั้นกรมธนารักษ์จะเปิดให้ข้าราชการที่อยู่ในเขตกรุงเทพและต่างจังหวัดตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าอยู่อาศัยในโครงการร่วมลงชื่อที่กรมธนารักษ์ได้ภายใน 1 เดือนหรือภายในเดือนกรกฎาคม 2559

สำหรับรูปแบบของผู้มีสิทธิ์ หากเป็นข้าราชการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนและเข้าพักอาศัยบ้านธนารักษ์ประชารัฐที่อยู่ในเขตกรุงเทพได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี กรณีบ้านธนารักษ์ประชารัฐในต่างจังหวัดจะใช้รูปแบบลักษณะของการเซ้งระยะยาวคือกำหนดอยู่ที่ 30 ปี

"กรมกำหนดสัดส่วนข้าราชการที่จะได้รับสิทธิ์ประมาณ 50% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด หากเป็นเขตกรุงเทพทั้งสองพื้นที่จะมีข้าราชการสามารถเข้าพักอาศัยได้ถึง 1 พันราย ซึ่งรูปแบบจะเป็นโครงการพัฒนาลักษณะคอนโด สูง 7 ชั้นรวมแปลงละ 500 ยูนิตรวม 2 แปลง ส่วนในต่างจังหวัดจะมีข้าราชการเป็นผู้เข้าพักอาศัยประมาณ 1,500 ราย จาก 3,000 รายซึ่งคาดว่าความต้องการจะสูงเพราะอัตราค่าเช่าเขตเมืองจะสูงกว่า 1-2 หมื่นบาทต่อเดือนแต่โครงการนี้ให้เช่าที่เดือนละ 4 พันบาทดังนั้นกรมจึงต้องคัดเลือกผู้เข้าพักอาศัยและให้สิทธิอาศัยไม่เกิน 5ปีเท่านั้น"

"โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ" กำหนดปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ใน 2 รูปแบบ คือ โครงการเช่าระยะสั้น (Rental) ซึ่งเป็นพื้นที่ดินราชพัสดุแปลงที่ 1 และ 2 โดยค่าเช่าอาคารชุดพักอาศัยไม่เกินเดือนละ 4 พันบาทต่อหน่วย และสามารถปรับปรุงค่าเช่าเพิ่มขึ้นไม่เกิน15% ทุก 5 ปี และพักอาศัยได้เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงรุ่นผู้อยู่อาศัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่อาศัยแทน และโครงการเช่าระยะยาว (Leasehold) ซึ่งให้ผู้ประกอบการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านแถว/บ้านเดี่ยว/อาคารชุดพักอาศัยบนพื้นที่ดินราชพัสดุแปลที่ 3 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ส่วนที่ดินราชพัสดุแปลงที่ 4-6 สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน กำหนราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย เป็นบ้านแถว/บ้านเดี่ยว มีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 48 ตารางเมตรต่อหน่วย และอาคารชุดพักอาศัยมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตรต่อหน่วย ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้กรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย และสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ระยะเวลา 30 ปี

ส่วนมาตรการสินเชื่อ แบ่งเป็น "สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance)" ซึ่งธอส.และธนาคารออมสินร่วมกันจัดวงเงินสินเชื่อประมาณ 4พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ และหรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) ทั้ง 2 ธนาคารดังกล่าวร่วมกันจัดทำโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ วงเงินสินเชื่อประมาณ 5 พันล้านบาทระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio : DSR) สำหรับลูกค้ารายย่อยผ่อนปรน DSRไม่เกิน 50% และสำหรับลูกค้าสวัสดิการ (หักเงินเดือน) DSR ไม่เกิน80% (ลูกค้าธอส.) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (Debt to Income Ratio : DTI)ไม่เกิน 70% (ลูกค้าธนาคารออมสิน) ซึ่งทางธอส.และออมสินสามารถพิจารณาวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม

สำหรับอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษที่อยู่อาศัยไมเกิน 1 ล้านบาท/ซ่อมแซม/ต่อเติมไม่เกิน 5 แสนบาทโดยปลอดดอกเบี้ยปีแรก,ส่วนปีที่ 2-3 อัตรา 2% ต่อปี,ปีที่ 4-6 อัตรา 5% ต่อปีและปีที่ 7-30 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น ลูกค้ารายย่อย ธอส. MRR-0.75% ลูกค้าธนาคารออมสิน MRR-1.475% ส่วนลูกค้าสวัสดิการ ธอส.คิดอัตรา MRR-1% ธนาคารออมสินคิด MRR-1.725% (ปัจจุบัน MRR ธอส.อยู่ที่ 6.75% และธนาคารออมสินอยู่ที่ 7.475%)

ยกตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยและประมาณการเงินงวดกรณีวงเงินกู้ 5 แสนบาทปีที่ 1 จ่าย 2,100 บาทปีที่ 2-3 จ่าย 2,100 บาท ปีที่ 4-6 จ่าย 2,900 บาทและปีที่ 7-30 จ่าย 3,200 บาท(รายย่อย) ส่วนสวัสดิการจ่าย 3,100 บาท สำหรับวงเงิน 1ล้านบาทปีที่1จ่าย 4,200 บาทปีที่ 2-3 จ่าย 4,200บาท ปีที่ 4-6 จ่าย 5,800 บาทและปีที่ 7-30 จ่าย 6,400 บาท(รายย่อย)และสวัสดิการจ่ายที่ 6,200 บาทเป็นต้น

อนึ่ง โครงการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ ในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวหรือเพื่อให้ผู้ที่ต้องการซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการพัฒนาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559