ก.ล.ต.แก้เกณฑ์บจ.ขายหุ้นPOหวังลดต้นทุน

21 เม.ย. 2559 | 14:00 น.
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นปรับปรุงร่างประกาศการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนหรือ PO เปิดคุณสมบัติบจ.เข้าข่าย มี CG ที่ดี กำหนดราคาเสนอขายไม่ต่ำกว่า 90 % ของราคาตลาด ไม่ได้เพิ่มทุนเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ คาดช่วยให้ต้นทุนต่ำลง เหตุได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมยื่นไฟล์ลิ่ง ไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นหรือทำเฮียริ่ง ต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หรือ PO ของบริษัทจดทะเบียน

การเสนอปรับปรุงร่างประกาศ PO ของบริษัทจดทะเบียนครั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทจดทะเบียน(บจ.) ที่มีการกำกับดูแลกิจการ หรือมีCG ที่ดี และเป็นการเสนอขายหุ้นที่มีลักษณะตามที่กำหนด เช่น เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ในราคาไม่ต่ำกว่า 90 % ของราคาตลาด และไม่เป็นการเพิ่มทุนเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน เป็นต้น

โดยบริษัทจดทะเบียนที่เข้าลักษณะดังกล่าวสามารถระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น PO ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สำหรับกระบวนการที่ ก.ล.ต. จะพิจารณาคำขอเสนอขายหุ้นจะแล้วเสร็จภายใน 14 วัน ซึ่งเท่ากับระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟล์ลิ่ง) นอกจากนี้ จะมีต้นทุนที่ต่ำลงโดยจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบไฟล์ลิ่งรวมทั้งไม่ต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้ร่วมจัดทำเอกสารคำขอและแบบไฟล์ลิ่งด้วย

การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้นำข้อเสนอแนะจากสาธารณชนในช่วงการนำเสนอแนวคิดและหลักการในเดือนตุลาคม 2558 มาใช้ในการจัดทำร่างประกาศฉบับนี้ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์การจัดสรรหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อให้มีการกระจายหุ้นให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเพียงพอ และป้องกันการจัดสรรหุ้น IPO ให้กับผู้มีอุปการคุณและบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท (RP) ในสัดส่วนที่สูงจนควบคุมปริมาณหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอาจนำไปสู่การซื้อขายหุ้นในลักษณะผิดปกติภายหลังการเข้าจดทะเบียน โดยเกณฑ์ที่ปรับปรุงมีสาระสำคัญดังนี้

1. ปรับปรุงนิยามของ "ผู้มีอุปการคุณ" หมายถึง บุคคลที่สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่องและชัดเจน โดยกำหนดสัดส่วนการจัดสรรหุ้น IPO ให้กับผู้มีอุปการคุณและ RP รวมกันได้ไม่เกิน 25%ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย IPO

2. ลดระยะเวลาการรายงานผลการขายหุ้น IPO จากเดิมภายใน 45 วันเป็นภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันปิดการเสนอขายหุ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการนำหุ้นเข้าจดทะเบียน

กำหนดให้อันเดอร์ไรท์เตอร์หรือผู้จัดจำหน่ายร่วมกับบริษัทลงนามในรายงานผลการจัดสรรหุ้นให้กับผู้มีอุปการคุณที่ได้รับการจัดสรรหุ้นสูงสุด 200รายแรก (ตามแบบ 81-1-IPO200) ต่อสำนักงานก.ล.ต.ด้วย จากเดิมที่อันเดอร์ไรเตอร์ ร่วมกับบริษัทลงนามในแบบรายงานผลการจัดสรรหุ้น IPO (ตามแบบ 81-1-IPO) เท่านั้น นอกจากนี้ให้บริษัทรายงานข้อมูลและรายละเอียดผู้มีอุปการคุณเพิ่มเติมในแบบ 81-1-IPO 200 ได้แก่ ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ชื่อบริษัทหลักทรัพย์ที่นาหุ้น IPO เข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และชื่อเจ้าหน้าที่การตลาดที่ดูแลบัญชี (กรณีที่มีการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์)

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวกับหุ้นไอพีโอเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1) กำหนดให้ข้อมูลในคำขอฯที่ยื่นต่อสำนักงานต้องไม่มีเหตุสงสัยว่าไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือปกปิดข้อมูล 2) ภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนยื่นคำขอฯบริษัทต้องไม่เคยถูกสำนักงานปฏิเสธคำขอฯหรือบริษัทเคยถอนคำขอฯโดยไม่ได้ชี้แจงข้อสงสัยของสำนักงาน เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับข้อมูลในคำขอฯที่ยื่นต่อสำนักงานไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือปกปิดข้อมูลในเรื่องที่มีนัยสำคัญที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัท

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล (due diligence) ในคำขอฯ และแบบไฟล์ลิ่ง ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงให้ FA ต้องทำdue diligence ข้อมูลในคำขอฯเกี่ยวกับกระบวนการขออนุมัติของบริษัทและวิธีการจัดทำรายชื่อของผู้มีอุปการคุณของบริษัทให้เป็นไปตามที่บริษัทกำหนดด้วย

3) ขยายระยะเวลาห้ามไม่ให้บริษัทที่จะนำหุ้น IPO เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่า IPO ให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจง(PP)จากเดิม 90 วันก่อนการเสนอขายหุ้น IPO เป็น 180 วันก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้น IPO

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559