อินเด็กซ์พลิกกลยุทธ์รับเทรนด์เปลี่ยน รุกออนไลน์แชะแล้วแชร์ดันอีเวนต์โต

19 เม.ย. 2559 | 07:43 น.
อินเด็กซ์ ตอบรับพฤติกรรมเทรนด์โลกปรับกลยุทธ์อีเวนต์ For Snap and Share ดันอีเวนต์ไตรมาสแรกโต 42% คาดสิ้นปีมีรายได้ตามเป้า 1.8 พันล้านบาท หวั่นภัยแล้งกระทบธุรกิจในประเทศ

[caption id="attachment_43837" align="aligncenter" width="351"] เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เกรียงไกร กาญจนะโภคิน
ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม
บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทเล็งเห็นพฤติกรรมคนทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ความสำคัญกับเรื่องออนไลน์ และโซเชียลมีเดียมากขึ้น ดังนั้นจึงได้นำเทรนด์ดังกล่าวมาประยุกต์ปรับใช้กับงานอีเวนต์ ซึ่งหลังจากนี้จะมุ่งเน้นการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนที่เข้ามาร่วมงานอีเวนต์จะสามารถถ่ายรูป และแชร์ภาพลงในโซเชียลมีเดียได้ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย ภายหลังจากที่บริษัทได้ทดลองจัดงานรูปแบบ Design Event for Snap and Share ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้เติบโตกว่า 42% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งเชื่อว่ารายได้สิ้นปีจะมีไม่ต่ำกว่า 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีรายได้ราว 1.6 พันล้านบาท

“ในอดีตธุรกิจอีเวนต์จะนิยมนำดารา ศิลปิน นักร้องมาออกงานเพื่อสร้างกระแสการรับรู้ในวงกว้างทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยให้ความสำคัญกับเรื่องของออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากขึ้น ธุรกิจอีเวนต์จึงต้องปรับตัวตามกระแสเทรนด์โลกเช่นเดียวกัน ซึ่งบริษัทมองว่าการทำธุรกิจอีเวนต์ให้สอดคล้องกับการถ่ายภาพและแชร์ภาพในโซเชียล จะช่วยส่งผลการตอบรับที่ดีให้กับอีเวนต์ และแบรนด์ เนื่องจากจะเป็นการบอกต่อในวงกว้างแล้วยังได้รับกระแสที่ดีให้กับงาน”

ด้านผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อินเด็กซ์มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2558 เติบโตกว่า 42 % โดยมีสัดส่วนของลูกค้า แบ่งเป็นภาครัฐบาล 25% และเอกชน 75% ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1. กลุ่มธุรกิจ ครีเอทีฟ โซลูชัน งานบริการด้านการตลาดภายใต้ความคิดสร้างสรรค์ เติบโต 28% 2. กลุ่มธุรกิจมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส งานบริการส่งเสริมด้านการตลาด เติบโต 41%

3. กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ สร้างประสบการณ์ใหม่ และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทั้งในด้านบันเทิง และในชีวิตประจำวัน เติบโต 41% และ 4. กลุ่มธุรกิจอาเซียนวิงส์ งานด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน กับการขยายธุรกิจออกสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน เติบโต 50%

ขณะเดียวกันลูกค้าของอินเด็กซ์ในปีนี้ แบ่งออกเป็นลูกค้าฐานเดิมประมาณ 60% และลูกค้าใหม่ 40% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทยานยนต์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ประกันภัย การก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้งบประมาณเพื่อการเปิดตัวสินค้าใหม่ต่างๆ รวมถึงการทำแคมเปญภายในองค์กร กิจกรรมภายใน และการเทรนนิ่ง เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขันให้กับบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ตามบริษัทยังค่อนข้างกังวลกับปัญหาภัยแล้งในประเทศไทย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนที่อาจจะชะลอการซื้อสินค้าแบรนด์ต่างๆ

สำหรับปีนี้ โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา อินเด็กซ์ได้เดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องด้วยการส่งไอซีเว็กซ์ (ICVex) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจเทรดแฟร์ รวมถึงงานด้านมิวเซียม และเอ็กซิบิชัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน โดยที่อินเด็กซ์ได้เข้าไปหาโอกาสทางการตลาดเพิ่มเติม พร้อมทั้งคาดว่าจะสร้างสีสันให้กับอุตสาหกรรมอีเวนต์เมืองไทยอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559