ภัยแล้งลามหนักไม้ผลภาคตะวันออกยืนต้นตาย

19 เม.ย. 2559 | 07:12 น.
ภัยแล้งลุกลามหนัก “ไม้ผล” ภาคตะวันออกรับผลกระทบยืนต้นตาย จันทบุรี-ตราดเริ่มแย่ ต้องซื้อน้ำหล่อเลี้ยงสวน เกษตรฯหวั่นพื้นที่ปลูกเสียหาย-ไม่ได้ผลผลิต แนะช่องทางต่อลมหายใจเกษตรกร

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ลุกลามหนักขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวสวนไม้ผลหลายราย ทั้งทุเรียน เงาะ และมังคุด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ขณะนี้เกษตรกรหลายรายต้องลงทุนซื้อน้ำเพื่อประทังชีวิตต้นไม้ ขณะที่มีหลายสวนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวต้องปล่อยให้ต้นไม้ขาดน้ำ เหี่ยวเฉา และรอวันยืนต้นตาย หากภายในเดือนเมษายนยังไม่มีฝนตกลงมา คาดว่า สวนไม้ผลหลายแห่งจะได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอย่างหนัก

กรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาไม้ผลในยามขาดแคลนน้ำแก่เกษตรกรชาวสวนไม้ผลในภาคตะวันออก เพื่อลดความเสียหายและรักษาสวนไม้ผลให้อยู่รอดสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติภัยแล้งไปให้ได้ อาทิ การให้น้ำพืชครั้งละน้อยแต่ให้บ่อยครั้งเพื่อรักษาสภาพต้นไม่ให้เหี่ยวเฉา และเปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำพืชเป็นช่วงเย็นหรือกลางคืน เพื่อลดการระเหยของน้ำจากแดดที่ร้อนจัดในตอนกลางวัน

“ขณะเดียวกันยังแนะนำให้ใช้วัสดุที่หาง่ายในพื้นที่ เช่น เศษวัชพืช ฟางข้าว และทะลายปาล์ม คลุมบริเวณใต้ทรงพุ่มเพื่อรักษาความชื้นของดิน  สำหรับต้นไม้เล็กให้ใช้วัสดุ เช่น ซาแลน หรือทางมะพร้าว ช่วยในการพรางแสงให้แก่ต้นไม้เพื่อลดความเข้มของแสงแดด และหากประสบภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจต้องพิจารณาตัดผลผลิตบางส่วนทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตต้นไม้เอาไว้ก่อน เป็นแนวทางที่จะช่วยให้ชาวสวนไม้ผลสามารถรับมือและฝ่าช่วงวิกฤติแล้งนี้ไปได้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ไม้ผลจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและเกิดวิกฤติหนักกว่าการผลิตพืชไร่ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะใช้ระยะเวลาหลายปีในการดูแลจัดการกว่าจะเติบโตและให้ผลผลิต หากไม้ผลได้รับน้ำไม่เพียงพอหรือขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นพืชหยุดชะงัก ทั้งยังทำให้ได้ผลผลิตลดลง ถ้าได้รับผลกระทบรุนแรง ไม้ผลอาจยืนต้นตาย ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุนได้

“นอกจากนี้ ยังกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตรทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชไร่ทุกแห่ง ดูแลรักษาแปลงทดลองพืชซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างดี เพื่อไม่ให้งานวิจัยหยุดชะงัก เสียหาย และได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยพืช เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้สำรองแหล่งน้ำและเตรียมการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งไว้ล่วงหน้า” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว