BRACE FOR JAPAN : DEAR 'KUMAMON'

24 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
เพิ่งเขียนติงข้าราชการที่ชอบไปดูงานต่างประเทศหยกๆ อาทิตย์ที่แล้ว ว่าอย่าหาเหตุ ขอไปดู "แผ่นดินไหว" ที่ญี่ปุ่น

อาทิตย์ที่ผ่านมา แผ่นดินก็ไหวที่จังหวัด KUMAMOTO ทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย

ต้นเดือนเมษายน ผมเพิ่งไปชื่นชม ปราสาท KUMAMOTO และเมืองใหญ่ของเกาะคิวชู เมืองนี้ เป็นเส้นทางสุดฮอตของนักท่องเที่ยวไทย ช่วงต้นของฤดูซากุระบาน ต้องบินไป FUKUOKA และท่องเที่ยวบ้านเมืองน่ารักแถบนั้น ตั้งแต่ YUFUIN BFPPU KUMAMOTO OITA ฯลฯ
ซากุระของเกาะคิวชู บานก่อน TOKYO KYOTO นักท่องเที่ยวที่กลัวพลาดจึงรีบเดินทางไปก่อน แถมระยะทางจากกรุงเทพฯไป FUKUOKA ใกล้กว่าไป TOKYO ทุกอย่าง น่าจะถูกกว่า ใครมีกำลังทรัพย์มากจะซื้อตั๋ว J PASS นั่งรถไฟ SHINKANSEN ต่อไปยัง TOKYO KYOTO OSAKA เอนจอย "ซากุระบาน" ต่อต้น SPRING ก็ย่อมได้

การเดินทางไปญี่ปุ่น เขาเอื้ออำนวยผู้คนไม่ว่าเด็ก สตรี คนชรา เป็นอย่างยิ่ง ทางลาด บันไดเลื่อน ลิฟต์ สัญญาณจราจร
ไม่แปลกใจเลย (ความจริงแปลกใจ) ที่จะเห็นเด็กนักเรียน 5-6 ขวบ เดินไปโรงเรียนตามลำพัง แถมขึ้นรถไฟไป 2-3 ป้ายด้วยตัวเอง (ผมแอบเดินตามดู) ของคนไทย อาจารย์ปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดล ยืนรอรถเมล์ช่วงเช้าแถวตลาดราชวัตร ยังต้องมีคุณแม่มายืนเป็นเพื่อนเลย (ฮา)

ของญี่ปุ่นเขาทำได้ เพราะเขาฝึกสอนเรื่อง "วินัย" ตั้งแต่เด็ก อีกทั้งเคร่งครัดกับกฎกติกาจราจร ทั้งผู้ขับขี่และผู้สัญจร

ไฟแดง ทางม้าลาย รถต้องหยุด ไฟคนข้ามถ้าไม่ได้ไฟเขียว ก็ไม่ข้ามเช่นกัน แม้ว่าจะดึกดื่นถนนโล่ง หรืออากาศหนาวเหน็บ

เด็กของเขาจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ผมเห็นเด็กเล็กๆ กลุ่มหนึ่งน่ารัก เดินเบิกบานมาจากซอยสู่ถนนใหญ่ ผมเดินตามถ่ายรูปสักพัก มีคุณแม่ญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง เดินตามมาบอกว่า ในญี่ปุ่น เขาห้ามถ่ายรูปเด็กเล็ก โดยไม่ได้รับอนุญาต นับเป็นความใส่ใจและความอุตสาหะเพราะไม่ง่ายเลยที่จะติดตามมาและเสียเวลาอธิบาย

การเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟสะดวกมาก ถ้ามี PASS แล้วขี้เกียจจองที่นั่งล่วงหน้า ก็รอกระโดดขึ้น ปกติ 3 โบกี้ข้างหน้าจะเป็น Non- Reserved Seats ว่างตรงไหนก็นั่งได้เลย

ที่ชอบใจมากคือ รถเมล์ ผู้โดยสารรออย่างมีอนาคต รู้ว่าคันที่จะมาขึ้นตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว หรือรถคันต่อไปจะมาเมื่อไร แถมขึ้นไปถ้าไม่มีเศษเหรียญ ในรถบัสก็จะมีเครื่องแลกแบงก์เป็นเหรียญ และเครื่องแลก เหรียญเป็นเหรียญย่อย ตอนขึ้นก็หยิบตั๋วแสดงจุดขึ้นเอาไว้ ตอนจะลง แผงไฟเหนือหัวคนขับจะบอกว่าจากโซนที่คุณขึ้น ถึงจุดที่คุณจะลง คุณต้องจ่ายกี่เยน
ถนนหนทาง เขาใช้ความกว้างของถนนบีบให้คนขับขับอย่างระมัดระวัง คือ ถนนจะไม่กว้างมากนัก ประมาณให้สวนกันพอดีๆ

ถนนในโตเกียว เส้นทางจะวกวน หลงง่าย เพราะผังเมืองเดิมวางไว้กันข้าศึก แต่เส้นทางใหม่ๆ คงไม่มี concept ดังกล่าว อีกแล้ว
โดยสรุป การเดินทางในประเทศญี่ปุ่น เราจะซาบซึ้งถึง "ความพิถีพิถัน" ของทางการ ที่พยายามปรับปรุงให้ "เอื้อ" กับ "ผู้คนที่สัญจร"

ผู้คนต้องใช้สติปัญญาไหวพริบในการเดินทางบ้าง แต่ค่อนข้างสะดวก สบาย ปลอดภัย ผู้คนท้องถิ่นได้รับบริการมาตรฐานสูง นักท่องเที่ยวได้อานิสงส์

เทียบกับการเดินทางในประเทศไทย ทุรนทุราย เสี่ยงภัย ตามยถากรรม หากคนในประเทศไทยยังต้องเดินทางในลักษณะนี้

น่าจะบาปกรรมที่ไปชักชวนคนชาติอื่นมาท่องเที่ยว มาผจญภัย งบประมาณการท่องเที่ยวไทย ทั้งหลายทั้งปวง น่าจะนำมาใช้ในการปรับปรุงระบบคมนาคมของประเทศก่อน

แผ่นดินไหวที่จังหวัด KUMAMOTO ครั้งนี้ ตัวปราสาทที่ได้รับการกล่าวขานว่า อยู่ใน TOP 3 ของญี่ปุ่น ได้รับความเสียหาย ผู้คนที่ได้ไปชมความงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลซากุระ ต้นเดือนที่ผ่านมาต่างรู้สึกเศร้าและเสียดาย

แต่ที่ได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งกลับเป็น "หมีดำ" KUMAMON MASCOT น่ารักที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง

"เจ้าหมีดำ" ถูกนำมาเป็น "ตัวนำโชค" ชักชวนคนมาเที่ยวจังหวัด KUMAMOTO ภายหลังที่เส้นทางรถ SHINKANSEN สายใหม่เกิดขึ้น KYUSHU SHINKANSEN ในปีค.ศ. 2010

เป็นผลงานที่น่ายกย่องของข้าราชการเมืองที่ต้องการ Promote การท่องเที่ยวของจังหวัด KUMAMOTO แท้ๆ แต่กลับดังระเบิดเป็นที่นิยมทั้งประเทศ (และทั่วโลกในเวลาต่อมา)

แค่ใน 2 ปีก่อนปี ค.ศ. 2014 แบงก์ชาติญี่ปุ่น คำนวณตัวเลขออกมาว่า ผลิตภัณฑ์ KUMAMOTO สร้างรายได้ทั้งหมดกว่า 132.2 พันล้านเยน

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัททำตุ๊กตาของเยอรมนี STEIFF ร่วมกับเมือง KUMAMOTO ผลิตหมี KUMAMON มา 1,500 ตัว ไม่ได้ขายถูกเลย ตัวละ 30,000 เยน ขายทาง online หมดภายใน 5 วินาที

ขนาดโรงแรม 5 ดาวอย่าง NEW OTANI คืนที่ผมเข้าเช็กอิน พนักงานยังชวนให้ไปนอนห้อง KUMAMON ที่ปกติจะจองยาก เผอิญลูกค้ายกเลิกกะทันหัน ของใช้ทุกอย่างในห้องเกี่ยวข้องกับหมีดำ KUMAMON ไม่ว่าจะเป็นกรรไกรตัดเล็บ ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ถ้วยน้ำ ตู้เย็น (มีเล็บหมีปลอมให้ใส่เล่นด้วย) แต่ต้องเพิ่มเงินอีกเกือบ 5 พันบาท เพื่อจะได้กับ "หมี" (ฮา) ผมว่าท่านผู้อ่านที่ฉลาดคงเดาออกว่า ผมตัดสินใจอย่างไร

อยากส่งท้ายด้วยข้อคิดของทีมงาน KUMAMON เพื่อแฟนๆ ผู้อ่านที่เป็นนิสิต นักศึกษา ทรัพยากรประเทศไทย

"IF WE ARE IN DOUBT ABOUT A NEW IDEA, IF IT’S A NEW FRONTIER, WE GO AND JUST DO IT" (MR.HISAO WAKASUGI)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559