จับตาสินค้าจีนทะลักออนไลน์ หลัง‘อาลีบาบา’ปิดดิวซื้ออี-คอมเมิร์ซภูมิภาค‘ลาซาด้า’

21 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
กูรูวงการอี-คอมเมิร์ซไทย มองดิวซื้อกิจการลาซาด้าของอาลีบาบา มูลค่า 1.8 หมื่นล้าน พร้อมประกาศลงทุนเพิ่มอีก 1.8 หมื่นล้าน เป็นการทุ่มเพื่อขยายช่องทางขายสินค้าจีนสู่ตลาดอาเซียน ขณะที่เรดดี้แพลนเน็ตมองส่งผลดีต่อการพัฒนาการค้าออนไลน์ภูมิภาคนี้

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัทตลาดดอตคอม จำกัด ผู้ให้บริการอี-คอมมิร์ซรายใหญ่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการเข้าซื้อกิจการลาซาด้าของ อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของจีน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งประกาศลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท นั้นไม่ได้กระทบกับตลาดอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจค้าปลีกในไทยเพียงประเทศเดียว แต่กระทบไปยังตลาดทั้งภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากลาซาด้า เป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซระดับภูมิภาคอาเซียนที่เปิดให้บริการในไทย , อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม

โดยการซื้อกิจการของผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนในครั้งนี้ จะทำให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดไทย และประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจีนมาจำหน่ายผ่านออนไลน์ หรือ ตัวแทนจำหน่ายสินค้าจีน จะต้องปรับตัว อย่างไรก็ตามมองว่ายังส่งผลกระทบไม่มาก เนื่องจากอี-คอมเมิร์ซในไทยมีสัดส่วนเพียง 1% ของธุรกิจค้าปลีก แต่ระยะยาวแล้วจะส่งผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตที่รวดเร็วของอี-คอมเมิร์ซ

นายภาวุธ กล่าวต่อไปอีกว่าอย่างไรก็ตามต้องดูกลยุทธ์ของอาลีบาบา หลังจากซื้อลาซาด้าต่อไปว่าจะใช้เกมทุ่มเงินสร้างฐานตลาดขึ้นมาเหมือนที่ลาซาด้า ประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งในส่วนของตลาดดอตคอมที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่รุนแรงมาตลอด โดยล่าสุดได้เตรียมปรับโพสิชันของตัวเองเพื่อให้แตกต่างจากลาซาด้า พร้อมทั้งได้เตรียมแผนขยายตลาดไปยังระดับภูมิภาคอาเซียน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ในขณะนี้

ด้านนายทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซสำเร็จรูปรายใหญ่ กล่าวว่า มองว่าการซื้อลาซาด้า ของกลุ่มอาลีบาบา น่าจะส่งผลดีกับการพัฒนาอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เนื่องจากอาลีบาบา ถือเป็นผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซ ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็ส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

"แม้ไม่เกิดดิวดังกล่าวปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลก ก็ขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซแบบไม่มีพรมแดนมายังตลาดไทย และภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ซึ่งมองว่าการเข้ามาของอาลีบาบา จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกการซื้อสินค้ามากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องปรับตัวเพื่อรับการแข่งขัน โดยต้องการจุดขาย และตลาดของตัวเองให้เจอ"

ด้านแหล่งข่าวจากวงการอี-คอมเมิร์ซรายหนึ่ง กล่าวว่าดิวซื้อขายกิจการลาซาด้าให้กับอาลีบาบานั้นถือเป็นดิวที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ เพราะโมเดลธุรกิจของลาซาด้า ใช้เงินสร้างฐานลูกค้าขึ้นมาเพื่อขายต่อ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้เม็ดเงินไปมหาศาลแล้ว และต้องการหาคนเข้ามาซื้อกิจการแต่ด้วยสเกลธุรกิจ มีเพียงยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่างอเมซอน และอาลีบาบา ที่สามารถซื้อกิจการได้เท่านั้น ซึ่งท้ายสุดไปจบดิวที่อาลีบาบา ที่ต้องการขยายธุรกิจเข้ามาในไทย รวมถึงประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ แต่ที่ผ่านมาทำตลาดผ่านอาลีบาบา เอ็กซ์เพรส เถาเป่า ซึ่งเป็นเว็บภาษาจีน ดังนั้นการซื้อลาซาด้า ช่วยให้อาลีบาบามีช่องทางจำหน่ายสินค้าในภูมิภาคนี้เป็นภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559