ความพร้อมในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมในประเทศไทย

23 เม.ย. 2559 | 11:00 น.
ระบบตั๋วร่วม คือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือระบบขนส่งมวลชนสามารถจ่ายเงินค่าโดยสารโดยใช้ตั๋วใบเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถไฟ และการคมนาคมขนส่งรูปแบบอื่น เช่น ทางพิเศษ รวมทั้งบริการอื่นๆ ของภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งระบบตั๋วร่วมนี้จะช่วยลดเวลา และความยุ่งยากในการใช้เงินสด หรือเหรียญเมื่อต้องใช้บริการเหล่านั้น ซึ่งระบบดังกล่าวได้นำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิเช่น Octopus card ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง Suica card ในประเทศญี่ปุ่น Ez-link ในประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

[caption id="attachment_47052" align="aligncenter" width="500"] comonticket comonticket[/caption]

สำหรับประเทศไทยถือได้ว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ และเป็นเรื่องของเทคนิคเฉพาะด้าน ที่ยังไม่เคยมีการใช้ ที่ผ่านมาได้มีการศึกษามามากและนานแล้ว จนเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีตั๋วร่วมใช้สักที ณ วันนี้ ได้ก้าวมาถึงจุดที่กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งถ้าพูดถึงความพร้อมในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม อาจกล่าวได้ว่า ทางนโยบาย ทางเทคนิค เสร็จไปเกือบ 100% แล้ว ขาดแต่เรื่องของการบริหารจัดการที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยมีเป้าหมายให้สามารถใช้ตั๋วร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2559 นี้

สรุปความพร้อมได้ดังนี้ปัจจุบันได้มีการกำหนดนโยบาย เพื่อให้การดำเนินงานระบบตั๋วร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม โดยให้สามารถใช้งานครอบคลุมระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ สามารถต่อยอดใช้งานไปยังภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาคขนส่ง สามารถมีผู้ออกบัตรและผู้ร่วมออกบัตรได้หลายราย ภายใต้มาตรฐานเดียว มีความสามารถในการขยายระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางเพื่อรองรับธุรกรรมในอนาคต และ สามารถทำรายการได้อย่างแม่นยำ น่าเชื่อถือและโปร่งใส ภายในเวลาที่กำหนด

โดยได้มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ของระบบ และมีแบบรายละเอียดของระบบทั้งในส่วนของระบบจัดเก็บรายได้ ระบบจัดการรายได้ และแนวคิดในการเชื่อมต่อระบบ เช่น บัตรโดยสาร การเชื่อมต่อโครงข่าย และการบริหารจัดการข้อมูลในระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง รูปแบบและหน้าที่ของศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง กฎธุรกิจตั๋วร่วม โครงสร้างข้อมูลของตั๋วร่วม คุณสมบัติพื้นฐานของเครื่องอ่าน/เขียนบัตร สำหรับตั๋วร่วม รูปแบบข้อมูลเพื่อการเชื่อมต่อต่างๆ และการกำหนดค่าต่างๆ ที่จะต้องใช้ร่วมกันนอกจากนั้นยังมีการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบตั๋วร่วมแล้วเสร็จ ซึ่ง CCH จะทำหน้าที่ในการประมวลผลรายการการทำธุรกรรม บริหารหักบัญชี การจัดสรรรายได้ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานตั๋วร่วมในการชำระค่าเดินทางหรือใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในการใช้บริการจากผู้ให้บริการทั้งภาคขนส่งและนอกภาคขนส่ง และรวมถึงจัดทำรายงานต่างๆ แก่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารดำเนินการบริการชำระดุลให้แก่ผู้ให้บริการ

ทั้งนี้ในการใช้ตั๋วร่วมการชำระค่าบริการต่างๆ ผู้ประสงค์ที่จะใช้ตั๋วร่วมในการชำระค่าเดินทางหรือค่าสินค้าและบริการสามารถออกบัตรได้จากผู้ออกบัตร (Issuer and Co-branded Issuer) และผู้ตัวแทนจำหน่ายบัตร (Sale Agents) และสามารถเติมเงินผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการเติมเงินผ่านตัวแทนเติมเงิน การเติมเงินระบบออนไลน์ และการเติมเงินอัตโนมัติ (Auto-Top up) ซึ่งในส่วนของเติมเงินแบบออนไลน์ และการเติมเงินอัตโนมัติ จะสามารถชำระเงินได้หลายวิธีทั้งการชำระผ่านบัตร credit/debit โดยการหักบัญชีธนาคาร หรือการชำระเงินผ่านระบบการโอนเงินแบบ ANY ID ที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ในส่วนของการเติมเงินแบบ Auto Top-up นั้นยังสามารถรองรับการสนับสนุนการให้สวัสดิการจากภาครัฐได้

ประการหนึ่งนั้นยังได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์ และชื่อของตั๋วร่วม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และเป็นเอกภาพแล้วว่า บัตรแมงมุม โดยปัจจุบันสิ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เช่น การทดลอง ทดสอบการใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบขนส่งรูปแบบต่างๆ รวมถึงการนำไปใช้กับนอกภาคขนส่ง การเจรจากับผู้ให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า Airport Rail Link เพื่อทำการปรับปรุงระบบที่มีอยู่ให้สามารถรองรับการใช้ระบบตั๋วร่วมได้ ทั้งนี้ในส่วนของระบบใหม่ๆ ที่จะดำเนินการในอนาคต เช่น รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ระบบรถโดยสารประจำทาง ระบบเรือโดยสาร ระบบทางด่วน สามารถนำเอามาตรฐานของระบบตั๋วร่วมที่กำหนดไว้ไปใช้ดำเนินการเพื่อให้สามารถใช้กับระบบตั๋วร่วมได้เลย

โดยการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company: CTC) ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnerships: PPP) ซึ่งได้มีการบรรจุโครงการจัดหาผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมไว้ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558 - 2562 แล้ว โดยเป็นกิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-in) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ)

สำหรับการนำเสนออัตราค่าโดยสารร่วม ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการใช้ระบบตั๋วร่วมนั้น ได้มีการพิจารณาออกกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการระบบตั๋วร่วม หากจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับการดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ในส่วนของประชาชน ก็ไม่ต้องมีการเตรียมอะไรมาก ก็แค่เตรียมตัวสำหรับการใช้ตั๋วร่วมเท่านั้นครับ ทั้งนี้รายละเอียดในการใช้งานสนข.จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นระยะต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559