ประชันวิชัน 3 เจ้ากระทรวง ผนึกพลังบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน

24 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
บรรยากาศภายในงาน "ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ สู่ความยั่งยืน" ดำเนินไปอย่างชื่นมื่น โดยมีแม่งานอย่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ "สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเกษตรกรอย่างยั่งยืน" ระหว่าง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) และ สภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงการรับมอบแผนที่น้ำระดับตำบล 150 ตำบลของ สสนก.ให้แก่สภาเกษตรแห่งชาติ

[caption id="attachment_47169" align="aligncenter" width="500"] ลงนามความร่วมมือ ลงนามความร่วมมือ[/caption]

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ ได้เห็น 3 ผู้นำกระทรวงใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเปิดวิสัยทัศน์เรื่องการบริหารจัดการน้ำได้อย่างน่าสนใจ

 เร่งบูรณาการแก้ปัญหาน้ำ

เริ่มจากเจ้าของฉายา "บิ๊กนมชง"พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯมีความเข้าใจในประเด็นและปัญหาเรื่องน้ำ และเมื่อมีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ซึ่งช่วงนี้ลงพื้นที่ทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรซึ่งทุกครั้งที่จะเกิดความรู้สึกทั้งเจ็บใจ และแค้น ทำไมประเทศไทยถึงเป็นเช่นนี้ ทำไมประเทศไทยถึงมีปัญหาเรื่องน้ำอยู่

ทั้งย้ำกับตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมงานหลายร้อยคนด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เล็งเห็นเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดได้มอบหมายให้ตนเองเป็นประธาน จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 6 มิติ อาทิ น้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เป็นต้น ครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปเมื่อกลางปี 2558 และในวันที่ 20 เมษายน นี้ "คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" (กนช.)ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นจะมีการประชุมเรื่องน้ำ

"วันนี้สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องทำ และจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การบูรณาการทำงานร่วมกัน บนฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งงานของกระทรวงเกษตรฯนั้นได้จัดทำแผนที่การทำการเกษตรเชิงรุก จากข้อมูลทั้งหมดจะสามารถระบุแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัดว่า พื้นที่ใดไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรที่ทำอยู่เดิม และพื้นที่ใดเหมาะสม"

ก่อนให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ภาพรวมของประเทศมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรแบบเดิมอยู่ประมาณ 67% ขณะที่อีก 33% เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ซึ่งล่าสุดได้นำข้อมูลทั้งหมดมาต่อยอด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่เจาะลึกลงรายละเอียดเป็นรายจังหวัด และรายอำเภอ พร้อมทางเลือกกรณีพื้นที่นั้นๆไม่เหมาะสมกับการเกษตรแบบเดิม อาทิ ปลูกพืชประเภทอื่นหรือทำปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำระยะ 10 ปี

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่มีอยู่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ เราต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำ เกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ที่นอกจากจะมีค่าแรงถูกกว่าของไทยแล้ว ยังมีสินค้าเกษตรที่คล้ายคลึงกันด้วย โดยได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดดำเนินการควบคู่กัน นั่นคือ การทำเกษตรผสมผสาน รวมถึงการนำหลักการแนวทฤษฎีใหม่มาใช้ควบคู่กันด้วย

  ก.ทรัพย์ทุ่มแก้วิกฤติน้ำ1หมื่นล้าน

ด้าน "บิ๊กเต่า"พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่าในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯนั้น ได้ชี้แจงกับข้าราชการว่า ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้ชี้นำ ควบคุม สั่งการ ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุน ขณะที่ภาคประชาชนเองต้องมีองค์ความรู้ที่แม่นยำ มีพื้นฐานที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมาและโปร่งใสจึงจะไปด้วยกันได้ ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนหากได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็จะเกิดความเสียหายและไม่เกิดความยั่งยืน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำนั้น รัฐบาลพยายามที่จะเดินหน้าเรื่องนี้โดยเห็นว่า พล.อ.ฉัตรชัย เป็นรองนายกฯที่ดูแลเรื่องน้ำอยู่แล้ว ซึ่งตนเองได้ส่งอธิบดีกรมน้ำ และอธิบดีกรมบาดาล เข้าหารือกับพล.อ.ฉัตรชัย เป็นประจำ อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการน้ำจะเกิดประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นเจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ วันแรก สิ่งที่ทำ คือ ขอข้อมูลเรื่องน้ำมาดู เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปพบว่า แหล่งน้ำบางแหล่งเก็บกักน้ำได้ แต่นำมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างยาก เพราะขาดระบบการสูบน้ำและกระจายน้ำ

"เสนอแนะว่า สภาเกษตรกรฯและกระทรวง ต้องร่วมกันออกแบบให้เกิดเป็นรูปธรรม ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านการทำงานให้เกิดขึ้นให้ได้ ขณะที่รัฐบาลนี้มีระยะเวลาการทำงานอีกระยะเวลาหนึ่ง จึงอยากให้ใช้โอกาสนี้ที่รัฐมนตรีไม่สังกัดพรรคการเมือง ทุกคนสามารถรับเรื่องทุกกระทรวง และสามารถนำไปชี้แจงกับ ครม.ได้ทุกคน โดยปีนี้เฉพาะกระทรวงทรัพยากรฯใช้งบประมาณเรื่องน้ำไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท"

พร้อมกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า โดยส่วนตัวอยากเห็นข้อมูลจริงที่สามารถนำมาใช้ได้ ไม่ใช่ข้อมูลจากความรู้สึก อาทิ แล้งมาก แล้งที่สุด ซึ่งแย้งกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่ระบุว่า ไม่แล้ง อย่างไรก็ดี ได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลกลุ่มจังหวัดได้ 18 กลุ่มจังหวัด จากข้อมูลพบว่า จังหวัดนครสวรรค์แล้ง ทั้งๆที่อยู่บริเวณปากน้ำโพ ไม่ใช่ปริมาณน้ำน้อย แต่มีปริมาณการใช้มาก จึงแล้ง ขณะที่อีสานบางพื้นที่ไม่แล้ง เนื่องจากใช้น้ำน้อย ดังนั้น การดำเนินการเรื่องน้ำจึงไม่อาจมองจากความรู้สึก แต่ต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยืนยันว่า กระทรวงทรัพยากรฯยินดีสนับสนุน สภาเกษตรกรฯ ในเรื่องเหล่านี้ ฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากวันนี้ไปจะเดินหน้าและขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปได้อย่างไร

  ย้ำใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ขณะที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า การมีแผนภาพใหญ่ของประเทศเรื่องน้ำ จะต้องเดินไปพร้อมกันกับการปฏิบัติในระดับล่าง ระดับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งวันนี้มีเครือข่ายที่เป็นต้นแบบอยู่ประมาณ 60 เครือข่ายที่จะเป็นต้นแบบให้กับสังคมได้ พร้อมกระจายลงพื้นที่ได้ 600 หมู่บ้าน

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการบริหารจัดการน้ำแล้ว จากต้นแบบที่เห็นไม่ควรที่จะหยุดอยู่เพียงแค่เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ หลังจากนี้ควรมีกิจกรรมที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนได้อีก โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงวิทย์มีหน่วยงานอื่นๆที่จะสนับสนุนงานของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงทรัพยากรฯได้ในมิติอื่นๆ ด้วย มองว่า เรื่องของเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องมองในภาพรวมหรืออยู่ในเศรษฐกิจใหญ่เท่านั้น แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้ นอกจากนี้กระทรวงวิทย์ยินดีที่จะสนับสนุนงานทางการเกษตร สามารถมาเลือกดูงานวิจัยบนหิ้งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแปลงนาได้เลย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559