กปน.เผยเราจะได้อะไรจาก … THE LISBON CHARTER (กฎบัตรด้านน้ำ)

18 เม.ย. 2559 | 08:08 น.
การประปานครหลวง(กปน.)ออกบทความเรื่อง เราจะได้อะไรจาก … THE LISBON CHARTER (กฎบัตรด้านน้ำ)

ปัจจุบันประชากรทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยเรา มีอายุยืนยาวขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยสำคัญ คือ มีน้ำที่สะอาดบริโภคมากขึ้น เพราะน้ำสะอาดมีความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนเรา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดสัมมนาครั้งสำคัญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งจัดโดยสมาคมการประปาแห่งประเทศไทย (สปปท.)  กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.)  การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สถาบันน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย (AWA) และสมาคมน้ำนานาชาติ The International Water Association (IWA) ณ ห้องประชุม ชั้น 2  อาคารประปาวิวัฒน์ การประปาส่วนภูมิภาค  สาระสำคัญของงานนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายสาธารณะ (Lisbon Charter) และการกำกับดูแลเกี่ยวกับกิจการด้านน้ำอุปโภคบริโภค การสาธารณสุข และการจัดการน้ำเสีย พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ

The Lisbon Charter มาใช้ในประเทศไทยและประชาคมอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ ได้พูดถึง Aqua Rating ซึ่งเป็นระบบประเมินที่นำร่องแล้วใน 9 ประเทศในยุโรป ละตินอเมริกาและแคริเบียน เป็นการสร้างมาตรฐานสากลที่ช่วยในการประเมินการให้บริการน้ำและสุขาภิบาล

The Lisbon Charter  “กฎบัตรลิสบอน”  กำเนิดขึ้นจากการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 9  จัดโดยสมาคมน้ำนานาชาติ ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในเดือนกันยายน ปี 2557 โดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศโปรตุเกส (ERSER)  และได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนด 5 หลักการสำคัญ คือ 1.การจัดหาน้ำที่สะอาด ปลอดภัย และทุกคนสามารถเข้าถึงได้  2.การให้บริการด้วยความรับผิดชอบและมีความโปร่งใส  3.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 4.การให้บริการควรคำนึงถึงการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำทั้งหมด ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับน้ำดื่มและปลายทางสุดท้ายคือการบำบัดน้ำเสีย และ 5.การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ  สิ่งสำคัญ ก็คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องทำงานร่วมกัน มีส่วนร่วมตัดสินใจ เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันที่ตั้งไว้

ในการสัมมนาครั้งนี้ Dr.Jaime Melo Baptista  อดีตประธานบริษัท ERSAR / ประธานคณะมนตรีด้านยุทธศาสตร์แห่งองค์กรน้ำโปรตุเกส (PWP) /กรรมการสมาคม IWA ได้กล่าวถึง Lisbon Charter ว่า  “เป็นกฎบัตรที่กำหนดเกณฑ์นโยบายการกำกับดูแลที่ดี โดยเป้าหมายหลัก คือ 1. นำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดี 2. มีมาตรการในการกำกับดูแล (Regulator) และติดตามประมวลผลด้วยความโปร่งใส นอกจากนี้ Regulator ต้องมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านความเห็นชอบของ 1. รัฐบาล นโยบายของรัฐ 2. หน่วยกำกับดูแล (Regulator) 3. ผู้ให้บริการ และ 4. ผู้บริโภค”

Dr.Enrique Cabrera (IWA) Asian Water Academy - Thailand Water Resources Association / International Water Association บรรยายเรื่อง Aqua Rating

“Aqua Rating  เป็นมาตรฐานสากลในการให้คะแนนการให้บริการน้ำและการจัดการน้ำเสีย ที่หลายประเทศนำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ โดยให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 คะแนน โดยประเมินแนวปฏิบัติและการพัฒนาสาธารณูปโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ด้วยวิธีการ Checklist ให้ตอบ Yes-No questions ซึ่งเป็นการประเมินการให้บริการสาธารณูปโภคของหน่วยงานตนเอง (Self Assessment) โดยพิจารณาใน 3 มิติ นั่นคือ  ตัวชี้วัดการดำเนินงาน (Performance indicators) แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และคุณภาพของข้อมูล (Information quality) โดยใช้ กระบวนการตรวจติดตาม (Audit) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส Aqua Rating ระบบการประเมินใน 8 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.คุณภาพการให้บริการ 2.การเข้าถึงบริการ

3.ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจ 4. ประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ 5. การวางแผนและการลงทุน 6.ความยั่งยืนทางการเงิน 7. ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และ 8.ธรรมาภิบาล สำหรับในประเทศไทย สามารถนำ Aqua Rating มาใช้พัฒนาการให้บริการน้ำแก่ผู้ใช้น้ำในประเทศ โดยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure investments) และจะส่งผลให้มีการคืนทุน (Cost recovery) ในระยะยาว ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ใช้น้ำเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น”

นอกจากนี้ ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ยังเน้นพื้นฐานหลักเกณฑ์ 3 เรื่อง คือ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ  ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียน และมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ยังไม่มีหน่วยกำกับดูแล (Regulator) ด้านน้ำ  ควรที่จะประยุกต์ใช้เกณฑ์ Lisbon Charter เพื่อช่วยกำหนดนโยบายด้านน้ำ เนื่องจากหน่วยกำกับดูแลที่ดีจะส่งผลให้สิทธิและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน มีความชัดเจนและเท่าเทียมกัน

แม้ทั้ง The Lisbon Charter และ Aqua Rating จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เป็นหัวข้อเรียนรู้ที่น่าสนใจต่อการจัดการทรัพยากรน้ำให้กับประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทย รวมทั้งการประปานครหลวง (กปน.) มีบทบาทในการจัดหาและให้บริการน้ำประปาสำหรับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ปัจจุบัน กปน. สามารถให้บริการน้ำประปาในเขตชุมชนถึง 99% แล้ว เหลือเพียง 1% ที่เรามุ่งมั่นจะทำให้ทุกพื้นที่เข้าถึงน้ำสะอาดและปลอดภัยได้เต็ม 100%

นอกจากนี้ ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบประเมินผล ซึ่งปัจจุบัน กปน. นำแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) และระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SEPA) มาเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ

ทั้งด้านการพัฒนาระบบงาน และบุคลากรขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น หากมีการนำหลักเกณฑ์ทั้ง 2 เรื่องมาใช้ ก็จะสามารถสนับสนุน กปน. ในเรื่องการให้บริการน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง และช่วยพัฒนาวิชาชีพการประปาให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป