ค่ายรถบุก CLMV เปิดโชว์รูม-ศูนย์บริการรับเศรษฐกิจฟื้นกำลังซื้อโต

21 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
ค่ายรถ-ศูนย์เซอร์วิส รถเช่า แห่บุกตลาดเออีซี "อีซูซุ" ฉลอง 60 ปี ในไทยบุกเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการใน สปป.ลาวและกัมพูชา ล็อกซเล่ย์ ลุย "คาร์คอน" ศูนย์ซ่อมสีและตัวถังรถยนต์แบบด่วนในไทยและลาว "มาสเตอร์กรุ๊ป" จับมือซิกท์เปิดสาขารถเช่าระยะยาวและสั้นที่เวียงจันทน์

นาย สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้าไปรุกตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ของผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ประกอบการต่างๆถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในตลาดของประเทศเหล่านี้ โดยคาดว่าภายใน 3- 5 ปีหากความต้องการรถยนต์ในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น จะทำให้บริษัทรถยนต์เข้าไปลงทุนบุกตลาดทุกค่าย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่คาดว่าจะไปตั้งโรงงานผลิตเนื่องจากใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก เพราะไทยถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

"ไทยส่งออกรถไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลาว, กัมพูชา, เวียดนาม รวมไปถึงเมียนมา และในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาค่ายรถก็เริ่มเข้าไปแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้นๆเพราะเล็งเห็นถึงความต้องการรถที่เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง เขมร หรือกัมพูชา ที่มีรายได้ตัวหัวเพิ่มขึ้น และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยเข้าไปตั้งโรงงานหรือรุกธุรกิจเป็นจำนวนมาก ส่วนเวียดนาม แม้จะมีโรงงานผลิตรถแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ดังจะเห็นจากตัวเลขปีที่ผ่านมามียอดขาย 2.1 แสนคัน แต่ยอดผลิตในประเทศทำได้ 1.7 แสนคัน เท่ากับว่าที่เหลือเป็นการนำเข้า และเมื่อมองจากจำนวนประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของเวียดนาม ก็ทำให้คาดการณ์ว่าความต้องการรถยนต์ในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน "

นาย สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน มีปัจจัยประกอบ อาทิ กฎหมายการลงทุนในประเทศนั้นๆ, อัตราแลกเปลี่ยน และ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐว่าเป็นอย่างไร มีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างมีการศึกษาข้อมูลเหล่านี้เป็นอย่างดีก่อนจะเข้าไปเจาะตลาด

ด้านนายฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์อีซูซุในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสฉลองการดำเนินการ 60 ปีในประเทศไทย บริษัทได้เข้าไปรุกยังตลาดกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (CLMV) ซึ่งแต่เดิมตรีเพชรจะทำการส่งออกรถจากประเทศไทย และมีบริษัทแม่ญี่ปุ่นเป็นคนทำตลาดในกลุ่มนี้ แต่สำหรับครั้งนี้ตรีเพชรจะเข้าไปเปิดตัวแทนจำหน่าย โดยเบื้องต้น ได้เปิดโชว์รูมและศูนย์บริการ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชา

สำหรับ สปป.ลาวและกัมพูชามีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงถึง 6% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องสูงถึงประมาณ 7% ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการดำเนินงานของอีซูซุ ในลาว มีตัวแทนจำหน่าย 2 ราย และจากการศึกษาตลาดพบว่ามีแนวโน้มเติบโต ซึ่งตลาดรถปิกอัพของลาวมีปริมาณความต้องการ 1หมื่นคันต่อปี (ทุกยี่ห้อรวมกัน) ส่วนกัมพูชา มีตัวแทนจำหน่าย 1 แห่ง ขณะที่ตลาดรถปิกอัพมีความต้องการประมาณ 2.5 พันคันต่อปี

"เราเล็งเห็นศักยภาพของทั้ง 2 ประเทศ และแม้ว่าตลาดจะยังมีสัดส่วนที่เล็กแต่ในอนาคตก็คาดว่าจะมีการเติบโต ดังจะเห็นจากการประเมินของธนาคารโลกเกี่ยวกับจีดีพีของทั้ง 2 ประเทศ ส่วนแผนการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นในทั้ง 2 ประเทศ หรือประเทศต่างๆ รอบๆนั้นต้องดูผลการตอบรับของผู้บริโภคก่อน โดยบริษัทยังไม่ได้กำหนดแผนการว่าจะไปประเทศไหน"

นายนาคางาวะ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีพฤติกรรมและลักษณะการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศญี่ปุ่น) มั่นใจว่าตรีเพชร ซึ่งประสบความสำเร็จในประเทศไทยและเป็นแม่แบบทางการตลาดของอีซูซุทั่วโลก หรือที่เรียกกันว่า "ตรีเพชรอีซูซุมาร์เก็ตติ้งสคูล (Tri Petch Isuzu Marketing School)" ที่ในแต่ละปีจะมีทั้งผู้จัดจำหน่ายอีซูซุ ผู้แทนจำหน่ายอีซูซุจากทั่วโลก เดินทางมาเยี่ยมชมธุรกิจและศึกษาหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จะประสบความสำเร็จในตลาดลาวและกัมพูชาอย่างแน่นอน

สำหรับค่ายรถยนต์ที่เข้าไปเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการมาตรฐานไปแล้ว มีทั้งเชฟโรเลต ที่ไปเปิดธุรกิจในลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน ฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับฟอร์ด ที่เปิดโชว์รูมในเมียนมา ลาว กัมพูชา บูรไน มาเลเซีย

ส่วนนายณัฐพล เดชวิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์ คอนวินี่ จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์บริการต้นแบบ "คาร์คอน" เกิดจากการร่วมทุนของ 3 ฝ่ายจาก 3 ประเทศ ได้แก่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ถือหุ้น 51 % บจก.คาร์คอนวินี่คลับจากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 40 % และ บจก.เคพี จากประเทศลาว ถือหุ้น 9 % สำหรับ คาร์คอน ศูนย์แรกนี้ตั้งอยู่บริเวณริมถนนพระราม 3 ฝั่งตรงข้ามวัดปริวาส บนเนื้อที่กว่า 2.5 ไร่ ใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นศูนย์บริการต้นแบบ (Flagship Workshop)และศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) ตลอดจนเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ (R&D Center) โดยในปีแรก บริษัทตั้งเป้ารายได้จากศูนย์บริการต้นแบบไว้ประมาณ 40-50 ล้านบาท

"ส่วนแผนการขยายสาขาในต่างประเทศ บริษัทเล็งจะเปิดศูนย์บริการที่ประเทศลาวเป็นแห่งแรก เนื่องจาก "เคพี" พันธมิตรของเราเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจด้านยานยนต์รายใหญ่ในประเทศลาว ที่ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ศูนย์จำหน่ายและบริการรถยนต์-รถจักรยานยนต์ จึงเป็นโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าในประเทศลาวรวมถึงเดินหน้าสู่กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าหลังจากเปิดขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์แล้ว บริษัทคาดหวังรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 150-200 ล้านบาทภายใน 5 ปี"

อย่างไรก็ดี ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมาสเตอร์คาร์เร้นเทิล จำกัด ภายใต้เครือ มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอร์เรชั่น เอเชีย (จำกัด) ผู้ให้บริการรถเช่าระยะสั้นและระยะยาวเปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการขยายธุรกิจไปยัง "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" (สปป.ลาว ) อันเป็นไปตามนโยบายของซิกท์ เอจี ที่มอบหมายให้บริษัทดูแลการดำเนินธุรกิจของซิกท์ให้ครอบคลุม 7 ประเทศ ในอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย, เมียนม่า, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, ลาว และอินโดนีเซีย โดยล่าสุด เตรียมเปิดอาคารที่ทำการ ซิกท์ ประเทศลาว ณ นครเวียงจันทน์ ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้

จากการสำรวจของ"ฐานเศรษฐกิจ"พบว่า ลูกค้าเป้าหมายของมาสเตอร์คาร์เร้นทัล และซิกท์ คือลูกค้าดั้งเดิมในไทยที่เดินทางไปขยายธุรกิจในลาว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โรงไฟฟ้า การท่องเที่ยว โรงแรมและการบริการต่างๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559