กคช.จ้างจุฬาฯวิจัยบ้าน ‘น็อกดาวน์’ ลดต้นทุน

19 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษาวิจัย “โครงการศึกษาการจัดทำบ้านประกอบสำเร็จ หรือบ้านKnock Down เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาไม่แพง และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้มีการจัดประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาให้กับ ผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็วๆ นี้ณ ห้องบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายนพดล ว่องเวียงจันทร์รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจสังคมไทยที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจำนวนประชากรและรายได้ต่อหัวของคนไทยที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่กระบวนการก่อสร้างก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งยังส่งผลเสียแก่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตและขยะจากวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานด้านการก่อสร้างโดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพงานก่อสร้าง ประกอบกับในสภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยต้องการลดระยะเวลาในการก่อสร้างเพื่อลดต้นทุน การเคหะแห่งชาติ จึงมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาวิจัย“โครงการศึกษาการจัดทำบ้านประกอบเสร็จ หรือบ้าน Knock Down เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยการเคหะแห่งชาติ” ซึ่งได้ศึกษาวิจัยระบบ KnockDown ที่เป็นเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างเพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่อง การช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง การลดต้นทุน การควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง รวมทั้งการช่วยลดมลพิษ ที่เกิดจากการก่อสร้าง

“การเตรียมชิ้นงานต่างๆ ด้วยระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมจากโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนจะช่วยควบคุมคุณภาพงานให้แต่ละชิ้นส่วนมีคุณภาพไม่แตกต่างกันสามารถควบคุมเศษขยะเหลือทิ้งในพื้นที่ปิดของโรงงานง่ายกว่าพื้นที่เปิดที่หน้าสามารถควบคุมเวลาในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้ดีกว่า ทั้งยังได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งที่สามารถขนส่งได้รวดเร็วและเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงลำบากได้มากขึ้น โดยบ้าน Knock Down จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 60 วัน เป็นการลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุนในการก่อสร้าง ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ในราคาประหยัด โดยราคาค่าก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 500,000 -800,000 บาท” นายนพดลกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตรหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ทางคณะวิจัย ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งในด้านเทคนิค การเงิน และด้านสังคม รวมทั้งความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงการออกแบบจัดทำแบบบ้านและประเมินราคาออกมาเป็นบ้านจำนวน 12 แบบ สำหรับ 4ภูมิภาคของประเทศ

ซึ่งแบบบ้านทั้งหมดนี้ได้ออกแบบโดยใช้แนวคิดเรื่อง Universal design ที่เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมไปจนถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัยและทุกสภาพร่างกายอย่างเท่าเทียมพร้อมใส่ลักษณะเฉพาะด้านภูมิประเทศภูมิอากาศ ความเชื่อ และลักษณะสถาปัตยกรรม พื้นถิ่นที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งมีราคาประหยัด ก่อสร้างง่าย มีความน่าอยู่สบาย ประหยัดพลังงาน และเปน็ มิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามแนวคิด Eco village

“คณะวิจัย พยายามออกแบบบ้านเพื่อรองรับสภาพอากาศร้อนชื้นโดยการเพิ่มความเร็วลมผ่านอาคารให้มากที่สุด ซึ่งตัวบ้านจะมีลักษณะที่โปร่งรับลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่พร้อมออกแบบตัวบ้านให้หลีกเลี่ยงความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์ ด้วยการวางผังอาคารให้มีชานเรือนที่มีหลังคาคลุมทางทิศใต้ เพื่อป้องกันความร้อนจากรังสีตลอดทั้งวัน และออกแบบหลังคาให้ต่อจากชายคายื่นออกมาให้ลึกที่สุด โดยมีเสารับ รวมถึงการใช้วัสดุไม่สะสมความร้อน ใช้วัสดุที่มีมวลอุณหภาพ (Thermal Mass)ที่ตํ่าโดยเลือกวัสดุเปลือกอาคารเป็นส่วนผสมของไม้เทียม Smart Boardที่ปิดผิวนอกให้แก่ผนังชั้นในที่เป็นแกนกลาง ทำด้วยวัสดุผสมระหว่างคอนกรีตและเม็ดโฟม (BB Wall) ซึ่งมีค่าการกันความร้อนที่ดีกว่าผนังทั่วไป” ผศ.ดร.อรรจน์กล่าวเพิ่มเติม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559