‘บิ๊กตู่’ซื้อใจผู้นำท้องถิ่น ร่วมพิจารณางบหมู่บ้านละ2แสนบาท

20 เม.ย. 2559 | 14:00 น.
ปล่อยออกมาอีกหนึ่งหมัดกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ อนุมัติงบกลางปี 2559 เพื่อดำเนินโครงการวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาทให้แก่หมู่บ้านหมู่บ้านละ 2แสนบาท โดยจัดสรรเงินงบประมาณให้กับ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อนำไปจัดทำโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้านและชุมชน

[caption id="attachment_45866" align="aligncenter" width="700"] ตัวอย่างมติครม.ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างมติครม.ที่เกี่ยวข้อง[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" เปิดแฟ้มการประชุม ครม. (5 เมษายน 2559) พบว่า ในรายงานของกระทรวงการคลัง (กค.)ระบุสาระสำคัญของเรื่องว่า การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนนั้น ควรยกระดับศักยภาพของหมู่บ้านโดยการพัฒนาในด้านสังคมและคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ภายใต้หลักผลประโยชน์ร่วมกันในชุมชนและแนวทางประชารัฐ จึงได้จัดทำโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่หมู่บ้าน ผ่านกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หมู่บ้านละ 2 แสนบาท วงเงินรวม 1.5หมื่นล้านบาท

วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภูมิภาคของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน หรือการดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านที่พัฒนาและส่งเสริมการประกอบอาชีพ การผลิต การตลาด การพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ สวัสดิการในชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของหมู่บ้าน

ข้อความข้างต้นจึงกินความครอบคลุมมากกว่าโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทเดิมที่กำหนดไว้ว่า วัตถุประสงค์เพื่อจ้างงาน หรือให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริหารในจังหวัด ดังเช่น ซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

สอดรับกับถ้อยแถลงของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวตั้งข้อสังเกตตอนหนึ่งว่า

"..โครงการนี้จะสามารถช่วยอุดช่องว่างต่างๆจากโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล ไปยังหมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงซึ่งก่อนหน้านี้แต่ละโครงการของกองทุนหมู่บ้านอาจเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่โครงการใหม่นี้จะเป็นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไปด้วย"

นอกจากนี้เมื่อกลับมาดูกลไกการดำเนินงาน แตกต่างไปจากโครงการเดิมเช่นกัน ไม่ใช่ที่ตัววงเงินช่วยเหลือที่กระทรวงคลังเสนอจาก 3 แสนบาท ครม.ปรับลดลงเหลือ 2แสนบาท วงเงินเดิม 22,489.5 ล้านบาท เหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท

จากเดิมที่ให้"กรมบัญชีกลาง"เป็นผู้ดำเนินโครงการจัดตั้งคณะกรรมการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำจังหวัด" พิจารณาอนุมัติโครงการ และกรอบวงเงินให้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน เปลี่ยนไปใช้กลไกอื่นแทน โดยให้ "กำนัน" และ"คณะกรรมการหมู่บ้าน" พิจารณาคัดเลือกโครงการที่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ แล้วให้เสนอต่อ "คณะกรรมการยกระดับศักยภาพฯ" ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบช.) และผู้แทนจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ พัฒนาการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ภายใต้เงื่อนไขการเสนอโครงการที่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน โครงการ กิจกรรมของส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านต้องดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

"ขั้นตอนการพิจารณาโครงการจะเริ่มจากคณะกรรมการหมู่บ้านจะหารือกัน ก่อนเสนอโครงการขึ้นมาภายใต้การแนะนำของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรตำบล เป็นต้น แล้วส่งโครงการมาที่ระดับคณะกรรมการอำเภอ พิจารณาตกลงใจและเห็นชอบ งบประมาณสั่งจ่ายผ่านกระทรวงมหาดไทย ไปยังระดับอำเภอส่งถึงหมู่บ้าน" พล.ต.สรรเสริญ โฆษกรัฐบาล กล่าว

โดยในรายงานฉบับนี้ระบุให้ สำนักงบประมาณ (สงป.)จัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้หมู่บ้านผ่านกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และให้กรมบัญชีกลางโอนเงินให้หมู่บ้านไม่เกินหมู่บ้านละ 2 แสนบาท แต่ต้องไม่เกินวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติ และให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆเพื่อให้คณะกรรมการหมู่บ้านดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้แล้ว พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังจะจัดทำคู่มือชี้แจงให้ส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯได้รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ หากเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ คาดหมายว่า จะเริ่มดำเนินการโครงการได้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ และสามารถเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 3 เดือน หรือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการต่อเนื่องที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559