ยอดใช้ปูนซีเมนต์ขยับ ดัชนีชี้สัญญาณบวกเศรษฐกิจฟื้น

21 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
เมื่อเร็วๆนี้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาส่งสัญญาณว่า ภาพรวมจะเริ่มเห็นภาวะเศรษฐกิจกำลังค่อยๆพลิกฟื้นดีขึ้น โดยเฉพาะยอดความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ ที่เป็นดัชนีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่ดี โดยในช่วงไตรมาสแรกการใช้ปูนซีเมนต์ในภาพรวมขยายตัว 5 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน ขยายตัวเพียง 2%

[caption id="attachment_46004" align="aligncenter" width="503"] ส่วนแบ่งการตลาดปูนซีเมนต์จากผู้ผลิต 6 รายในประเทศ ส่วนแบ่งการตลาดปูนซีเมนต์จากผู้ผลิต 6 รายในประเทศ[/caption]

ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตซีอีโอเอสซีจี และในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อธิบายรายละเอียดเสริมให้เห็นภาพว่าการใช้ซีเมนต์ไตรมาสแรกนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ส่วนที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 50% จากการใช้ทั้งหมด ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบอยู่ที่ 2% จากเดิมที่คาดว่าติดลบ 5%, ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 18% จากการใช้ทั้งหมด มีการใช้เติบโตขึ้น 1%, ภาคการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีสัดส่วน 30% จากการใช้ทั้งหมด มีการใช้เติบโตขึ้น 19% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ 11% เมื่อมาดูยอดเฉลี่ยการเติบโตรวม 3 เดือนแรกพบว่าเติบโต5%

"การใช้ซีเมนต์ไม่มีการเติบโตต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ในปีนี้จะมีการเติบโตอย่างแน่นอนเนื่องจากภาคการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจาก 30% อีกด้วย" นายกานต์กล่าว

แม้ความเห็นต่อการใช้ปูนซีเมนต์ในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมาของรัฐบาล จะสวนทางกับความเห็นของผู้ประกอบการผลิตปูนซีเมนต์ที่มองว่า โดยภาพรวมยังอยู่ในโหมดเงียบเหงา เพราะยังไม่เห็นเมกะโปรเจ็กต์รัฐบาลขับเคลื่อนในแง่งานก่อสร้าง จึงโยนความหวังทั้งหมดไว้ที่ครึ่งปีหลัง โดยมองว่าเป้าหมายปี2559 ทั้งปี การบริโภคปูนซีเมนต์น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น3% หรือเติบโตตามจีดีพีของประเทศ

 ครึ่งหลังเห็นงานก่อสร้างรัฐเดิน

ต่อกรณีนี้ล่าสุด"ฐานเศรษฐกิจ" ไล่สำรวจกลุ่มผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ในประเทศ ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้ารัฐบาลประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานได้ ตามที่ประกาศไว้ยอดการใช้ปูนซีเมนต์ก็จะขยับตัวได้ดีขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ สอดคล้องกับไตรมาส2 ที่จะเริ่มเห็นงานประมูลโครงการรัฐบ้างแล้วนั้น ก็จะทำให้เกิดงานก่อสร้างจริงในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ที่จะเริ่มรับรู้ว่าแต่ละโครงการจะใช้คอนกรีตและปูนซีเมนต์ในปริมาณเท่าใด ซึ่งเวลานี้ภาครัฐเพิ่งประกาศ 3โครงการ คือ 1.รถไฟทางคู่ที่ไปภาคอีสานจิระ-ขอนแก่น ที่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ประมูลได้ 2. รถไฟทางคู่คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ประมูลได้ และ3.โครงการส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์ 14 สัญญา (ในส่วนนี้กรมทางหลวงแตกเป็นสัญญาย่อยให้ผู้รับเหมารายเล็ก รายย่อยแบ่งกันประมูลใน14สัญญานี้)

 คาด6ผู้ผลิตแบ่งเค้กถ้วนหน้า

ล่าสุดใน14 สัญญาทยอยประมูลใกล้ครบ 14 สัญญาแล้ว จึงค่อนข้างมั่นใจว่า ในไตรมาส 3 และ4 นี้ 2-3โครงการดังกล่าวจะเริ่มงานก่อสร้างได้ และมีการใช้ปูนซีเมนต์จากผู้ผลิต 5-6 รายในประเทศ ที่คาดว่าน่าจะป้อนงานโครงการรัฐได้ทุกราย แต่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ประกอบด้วยกลุ่ม เอสซีจี, ปูนซีเมนต์นครหลวง ,ปูนซีเมนต์เอเซีย,ทีพีไอ โพลีน ,กลุ่มอิตาเลียนไทย และบริษัท เซเม็กซ์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งใน6 รายนี้ถ้าเครื่องจักรเดินได้เต็มที่ จะมีขนาดกำลังผลิตรวมกันที่ราว 50-55ล้านตัน ประกอบด้วยกำลังผลิตจากเอสซีจี 23 ล้านตันต่อปี ,บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด 14 ล้านตันต่อปี, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) 12.8 ล้านตันต่อปี, บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด(มหาชน) ราว 5 ล้านตันต่อปี และบริษัท เซเม็กซ์(ประเทศไทย) จำกัด กับกลุ่มอิตาเลียนไทยรวมกำลังผลิตอีกกว่า 1 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามเมื่อปี2558 มีการบริโภคปูนซีเมนต์จริง รวมทั้งสิ้นราว 35 ล้านตันต่อปี (ดูตารางส่วนแบ่งตลาดแต่ละค่าย) โดยกระจายไปยังงานโครงสร้างพื้นฐานรัฐ โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ และป้อนโครงการที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ และมีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านราว10 ล้านตันต่อปี เท่ากับว่ายังเหลือกำลังผลิตปูนซีเมนต์อีกประมาณ 10 ล้านตันที่จะรองรับการเติบโตในงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้

 ครึ่งปีหลังแข่งขันคึกคัก

แหล่งข่าวจาก1ใน 4 ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ ฉายภาพให้เห็นว่าในครึ่งปีหลังอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะยิ่งคึกคักมากขึ้น โดยจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีกำลังผลิตใหม่ออกมาสู่ตลาดแล้วในขณะนี้ โดยมีกำลังผลิตส่วนขยายใหม่อีกราว 3.8 ล้านตัน รวมกำลังผลิตเดิมอีกราว 9 ล้านตัน หากเดินเครื่องได้เต็มที่ขีดความสามารถเครื่องจักรของทีพีไอ โพลีน จะผลิตได้รวมทั้งสิ้น 12.8 ล้านตัน

นอกจากจะมีปริมาณปูนซีเมนต์ที่ล้นตลาดอยู่ในขณะนี้ บางค่ายยังต้องรับศึกหนัก จากที่มีผู้ผลิตด้วยกันบางรายออกมา ขายปูนซีเมนต์ในราคาตัดหน้า โดยขายถูกกว่าคู่แข่ง ตั้งแต่ 200-300 บาทต่อตัน ทำให้ผู้ผลิตต่างงัดจุดขายด้านคุณภาพ และความต่างของสินค้าออกมาแข่งขัน

สอดคล้องกับที่นายนภดล รมยะรูป กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ตรา"ดอกบัว" กล่าวโดยภาพรวมว่า ตลาดมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจริงๆ เพราะปริมาณปูนซีเมนต์โดยรวมมีมากกว่าความต้องการใช้ ทำให้ช่วงต้นปีตลาดยังชะลอตัว แต่ในครึ่งปีหลังยังมั่นใจว่าจะดีขึ้น โดย 3 เดือนแรกปีนี้บริษัทได้ลูกค้าจากโปรเจ็กต์เก่าขายตามออร์เดอร์ ที่มีตลาดลูกค้าประจำอยู่แล้ว พร้อมกับหนีการแข่งขันโดยเน้นงานบริการ หาสินค้าพิเศษตามที่ลูกค้าต้องการออกสู่ตลาดมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่คู่แข่งเทียบไม่ได้ในแง่คุณภาพ

 ราคาปูนจ่อขยับ

อย่างไรก็ตามเมื่อความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ในจังหวะที่ขยับตัวดีขึ้น การมองเรื่องราคาก็จะตามมา เนื่องจากปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาปูนซีเมนต์ไว้ที่ 2,600 บาทต่อตัน แต่สภาพตลาดที่ผ่านมาไม่เอื้อต่อการขายปูนซีเมนต์ เพราะการบริโภคไม่ขยับทำให้ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ราว 1,100 บาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมไว้ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าราคาปูนซีเมนต์จะขยับขึ้นในเร็วๆนี้ หลังจากที่โครงการก่อสร้างภาครัฐเริ่มเคลื่อนไหวจริงในด้านก่อสร้าง

 ส่งออกไปเพื่อนบ้านเริ่มไม่หมู

นอกจากนี้จากการสำรวจตลาดปูนซีเมนต์ส่งออกยังพบอีกว่า ปี 2558 มีปริมาณส่งออกรวมต่อปีราว 10 ล้านตัน ที่ประเมินกันว่า นับจากนี้ไปแนวโน้มการส่งออกอาจจะยากขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
1.จีนและเวียดนามออกมาโหมโรงส่งปูนซีเมนต์เข้ามาตีตลาดในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น โดยจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามีการทุ่มตลาดปูนซีเมนต์จากจีนและเวียดนามในราคาถูกในประเทศเพื่อนบ้าน และขายในราคาที่ถูกกว่าไทยส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านราว 5-10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้การแข่งขันในประเทศเพื่อนบ้านยากขึ้น

2.ปัจจุบันค่ายเอสซีจีออกไปตั้งฐานการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทั้งใน กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา สปป.ลาว โดย 2 ประเทศแรกสามารถผลิตขายในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ส่วนเมียนมาและที่สปป.ลาว อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน

สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนในอาเซียนของเอสซีจีว่า ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ สามารถผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศอินโดนีเซียเริ่มผลิตสินค้าออกสู่ตลาดไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ขณะที่โรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเมียนมา และสปป.ลาว คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงกลางปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ ซึ่งโครงการลงทุนเหล่านี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดและรองรับความต้องการของลูกค้าในอาเซียน

เชื่อว่าไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศจะกลับมาคึกคักมากขึ้น หลังจากที่ 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดอยู่ในภาวะแตะเบรกนาน ความหวังเดียวที่จะฉุดให้ปูนซีเมนต์จากโรงงานระบายสู่มือกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อป้อนงานโครงสร้างพื้นฐานรัฐก็จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559