2559อีกปีทองผลไม้ภาคตะวันออก แล้งของน้อยดันราคาพุ่ง/‘ฉัตรชัย’สั่งดันฮับส่งออก

20 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
"ฉัตรชัย" ลงพื้นที่เอกซเรย์จันทบุรี ชี้อานิสงส์แล้งดันราคาพุ่ง เล็งดันภาคตะวันออก เป็น "ฮับ" ส่งออกผลไม้ จี้ราชการช่วยเกษตรกรพัฒนาด้านนวัตกรรม ด้าน "มิสเตอร์ผลไม้"" รับลูกรัฐมนตรีใช้เวทีฟรุตบอร์ดเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรม ขณะอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุปี 59 อีกหนึ่งปีทองผลไม้ภาคตะวันออก ทุเรียน เงาะ มังคุดทิศทางราคาดีทุกตัวจากของน้อย แต่ยอมรับห่วงลองกองตัวเดียว จากผลผลิตพุ่ง ยันไม่ขอเงิน คชก.อุ้ม

[caption id="attachment_45275" align="aligncenter" width="700"] ผลพยากรณ์ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุต เงาะ ลองกอง) ผลพยากรณ์ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุต เงาะ ลองกอง)[/caption]

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และผลไม้จังหวัดจันทบุรี ถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลไม้หลักของภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง รวม 4 ชนิด ของ 3 จังหวัด (จันทบุรี ตราด และระยอง) ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเกือบทุกชนิด (ยกเว้นลองกอง) โดยคาดผลผลิตจะลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา(ดูตารางประกอบ) จากผลกระทบดังกล่าวมีผลให้ผลไม้ในภาคตะวันออกโดยเฉลี่ยมีราคาปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามมองว่าผลไม้ในภาคตะวันออก หลายตัวมีศักยภาพสูงมากในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถผลักดันภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์การค้าส่งผลไม้ (ฮับ) ของประเทศไทยได้ เพราะมีเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมไปหาคู่ค้าโดยตรง ทั้งทางบก ทางทะเล ในหลายเส้นทาง รวมทั้งเกษตรกรเอง ในหลายพื้นที่ก็มีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้ไปสู่มาตรฐานโลกได้ โดยข้าราชการต้องลงไปช่วยในเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเพิ่มปริมาณ และคุณภาพผลผลิตกับชาวสวนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ให้ชาวสวนตั้งโรงงาน สนับสนุนการแปรรูป เพิ่มมูลค่า จะทำให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจนได้ ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่าง สวนอุดมทรัพย์ ของนายอุดม วรัญญูรัฐ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีการลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดทุกต้นในสวนทุเรียนทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการ และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญภัยแล้ง

ขณะที่นายนำชัย พรหมมีชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ "มิสเตอร์ผลไม้" กล่าวถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่จะดันให้ภาคตะวันออกเป็นฮับผลไม้ว่า มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะได้นำนโยบายไปขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปของคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ หรือฟรุตบอร์ดต่อไป เพราะจะเห็นว่า 4 จังหวัดข้างต้น มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีในจังหวัดส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับผลไม้

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยถึง สถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ ไม่น่าเป็นห่วง ถือว่าเป็นปีทองด้วยซ้ำไป เพราะมีปัจจัยต่างๆหนุนอีกมาก ได้แก่ 1. ผลผลิตมีน้อย 2. ทุเรียนไทย ได้รับความนิยมสูง ไร้คู่แข่ง แต่มีที่น่าห่วงคือ ลองกอง ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก คาดจะรับมือได้ โดยภาพรวมแล้วผลไม้มีการกระจายตัวของพื้นที่ แต่จะมีขนาดผลเล็กลง จากบางส่วนมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ มองว่าไม่กระทบมากนัก ทำให้ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ที่ไม่มีการขออนุมัติงบจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อช่วยเหลือ

สอดคล้องกับ นางบุบผา ภู่ละออ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่เผยถึง ผลการสำรวจข้อมูลไม้ผลของคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก (4 เม.ย.59) เพื่อจัดทำข้อมูลผลสำรวจปริมาณการผลิตไม้ผล ปี 2559 จำนวน 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด พบว่าผลผลิตต่อไร่ ทั้ง ทุเรียน มังคุด และเงาะลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีฝนตก สลับอากาศหนาว อากาศร้อน อากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในแต่ละวัน รวมทั้งมีพายุลมแรงทำให้ภาพรวมผลผลิตในภาพรวมจะลดลง 9% โดยผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนมิถุนายน

" ผลผลิตเงาะในปีนี้จะลดลงประมาณ 19 % รองลงมา คือ ทุเรียน และมังคุด ลดลง 6% และ 4 % ตามลำดับ ยกเว้นลองกองในปีนี้ ที่คาดว่าปริมาณผลผลิตรวมจะเพิ่มขึ้น 8%"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559