‘ธนารักษ์’ จ่อพับแผน ‘บ้านผู้สูงวัย’นครนายก

18 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
กรมธนารักษ์ จ่อพับแผน โครงการนำร่องบ้านผู้สูงอายุ จังหวัดนครนายก หลังไร้เอกชนสนใจประมูล เหตุข้อจำกัดพื้นที่ที่มีขนาดเพียง 14 ไร่ ส่งผลต่อการคืนทุน ปรับแผนโฟกัสโครงการในจังหวัดเชียงรายแทนรองรับผู้สูงอายุที่นิยมใช้ชีวิตทางเหนือ –ชาวต่างชาติที่เกษียณ โดยรัฐยอมถอยเกณฑ์ –ขยายเวลาออกไปอีก 45 วัน คาดจะมีเอกชนเสนอโครงการ 13 พ.ค.นี้ พร้อมปักเสาทันภายในปีนี้ เผยมีกลุ่มทุนญี่ปุ่นสนร่วมลงทุน

ความคืบหน้าโครงการบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ(Retirement Home) ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังหมายมั่นปั้นมือหวังยกระดับความเป็นอยู่เรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเตรียมการมาเป็นเวลาร่วม 3 ปี แต่หลังจากเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลเมื่อเดือนมกราคม 2559 ในโครงการนำร่องที่ ตำบลบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดนครนายก บนพื้นที่กว่า 14 ไร่ แต่ก็ยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าประมูล ทั้ง ๆที่ก่อนหน้ากรมธนารักษ์มั่นใจว่าจะมีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมไม่ต่ำกว่า 3ราย ยังผลให้กรมธนารักษ์ ต้องปรับแผนไปโฟกัสโครงการที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่แทน

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง "บ้านผู้สูงอายุ (Retirement Home)"ว่า โครงการนี้กรมธนารักษ์พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ โดยตามแผนหลังจากได้ผู้พัฒนาโครงการในโครงการนำร่องที่จังหวัดนครนายกแล้ว และจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ คาดจะรองรับผู้สูงอายุที่เป็นคนไทยที่มีภูมิลำเนาบริเวณภาคกลางและกรุงเทพมหานครนั้น แต่ถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจเสนอรายละเอียดในการพัฒนาโครงการเข้ามาอีก

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่กรมธนารักษ์อาจจะยกเลิกโครงการที่จังหวัดนครนายก เนื่องจากไม่มีผู้สนใจยื่นเข้าประมูล ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาคเอกชนมองถึงข้อจำกัดของขนาดพื้นที่เพียง 14ไร่ อาจยากต่อการพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าในเรื่องการทำให้ระบบสาธารณูปโภคให้ครบถ้วนเพื่อรองรับกับจำนวนห้องพักที่ไม่สามารถเพิ่มหรือขยาย ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการคืนทุนในอนาคต

"โครงการแรกที่ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 14-1-59 ไร่ และด้วยขนาดพื้นที่มีเพียง 14 ไร่ จึงเป็นข้อจำกัดต่อการตัดสินใจเข้าลงทุน ขณะเดียวกันกันมีความเป็นได้ที่จำนวนผู้สูงอายุในแถบจังหวัดนครนายกจะมีจำนวนไม่มาก และอาจส่งผลต่อระยะเวลาคืนทุนก็เป็นได้ เนื่องจากอัตราค่าเช่าที่ราชพัสดุ จังหวัดนครนายก ตามที่กรมธนารักษ์ระบุ แบ่งออกเป็น 5ช่วง สำหรับปีที่ 1-5 ไม่ต่ำกว่า 44,834 บาท ปีที่ 6-10 ไม่ต่ำกว่า 51,559 บาท ปีที่ 11-15 ไม่ต่ำกว่า 59,293 บาท, ปีที่ 16-20 ไม่ต่ำกว่า 68,187 บาท ปีที่ 21-25 ไม่ต่ำกว่า 78,414 บาท และปีที่ 26-30 ไม่ต่ำกว่า 90,177 บาท

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมถึงพื้นที่เป้าหมายแห่งที่ 2 ว่า จะใช้พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย บริเวณตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน บนที่ดินขนาด 64 ไร่ รองรับผู้สูงอายุที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยหรือใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทย หลังจากได้กำหนดให้เอกชนผู้สนใจเข้าซื้อซองประกวดราคาและมีผู้สนใจแล้ว 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นธุรกิจสถานพยาบาลและพักฟื้นผู้ป่วยของคนไทย และอีกรายเป็นกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งให้ความสนใจกับโครงการนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นรวมถึงผู้ถึงวัยเกษียณเดินทางเข้ามาพักผ่อนรวมถึงอาศัยพักอยู่ในไทยจำนวนมาก ส่วนใหญ่นิยมใช้ชีวิตอยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย

"มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทยในการลงทุนพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการประเภทนี้อยู่แล้ว ดังนั้นแม้พื้นที่ที่นครนายกจะไม่ได้รับความสนใจ แต่เราเชื่อว่าสำหรับโครงการที่เชียงรายเมื่อขยายเวลาออกไปอีก 45 วัน นับจากเดิมที่กำหนดให้ยื่นซองเข้ามาภายในวันที่ 23 มีนาคม2559 ซึ่งหากผลตอบรับที่จังหวัดเชียงรายดี อาจจะขยายไปยังพื้นที่เชียงใหม่"

แหล่งข่าวรายเดิมระบุว่า เมื่อได้ขยายเวลาออกไปก็น่าจะทำให้มีเอกชนเข้าเสนอรูปแบบการประมูลเข้ามา จากเดิมนั้น กรมธนารักษ์ ได้กำหนดระยะเวลาในการให้เอกชนเสนอรูปแบบเข้ามาโดยใช้ระยะเวลาสั้นเกินไป จึงมีความเป็นไปได้ที่เอกชนอาจไม่สามารถกำหนดรูปแบบของโครงการ โดยอิงมาจากการให้บริการในประเทศญี่ปุ่น ทั้งรูปแบบอาคาร การอำนวยความสะดวกของสถานพยาบาล รวมถึงค่าแรกเข้าและค่าบริการต่อเดือนที่ผู้เข้าพักจะต้องจ่าย

ทั้งนี้ ตามรูปแบบแล้วการยื่นเสนอโครงการต่อกรมธนารักษ์ ๆได้กำหนดในเรื่อง 1.ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะลานจอดเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินเพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน 2.ผลประโยชน์ที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่รัฐ อาทิ ค่าทำเนียมแรกเข้าโครงการ ค่าเช่าพื้นที่ที่จะต้องจ่ายจากการเช่าที่ดินในการพัฒนาโครงการระยะยาว 3.ผลประโยชน์จากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการโครงการ เป็นต้น และจะต้องดูว่าผู้พัฒนารายใดเสนอสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่กรมธนารักษ์สูงสุด โดยคาดว่าในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ที่จะครบกำหนดการขยายเวลา น่าจะมีความคืบหน้าว่ามีรายเอกชนเข้ามาเสนอโครงการในการร่วมประมูลเพื่อพัฒนาโครงการ

สำหรับโครงการพื้นที่ที่ 2 คือ พื้นที่จังหวัดเชียงราย (ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) แปลงหมายเลขที่ อ.ชร 30 โฉนดที่ดินเลขที่ 359 ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานหลวงดอยคำ เนื้อที่ 64-3-98 ไร่ ก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์ ระบุคุณสมบัติเบื้องต้นว่าเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลจะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 4.57 ล้านบาท (ชำระทุนจดทะเบียนดังกล่าวแล้ว) ที่สำคัญต้องไม่เคยเป็นผู้ทิ้งงานหรือสร้างความเสียหายให้แก่รัฐมาก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559