รถบรรทุกค้านนายกฯใช้ B20 เจอปัญหาเพียบ แต่พพ.สนองศึกษาแล้วชงกำหนดสเปกปลายปีนี้

19 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
กลุ่มรถบรรทุก"ต้านแนวคิด"ประยุทธ์"ใช้บี 20 พบปัญหาเพียบไขปาล์มอุดตันหัวฉีด เครื่องเร่งไม่ขึ้น สตาร์ตติดยาก แนะให้ไปส่งเสริมเครื่องยนต์การเกษตรดีกว่า ขณะที่พพ. ชี้มีเทคโนโลยีไร้ปัญหา เตรียมเสนอ ธพ.รับประกันสเปกหวังต่อยอดปลายปีนี้ แต่ยังหวั่นราคาไบโอดีเซลบี100 แพง 3 เท่า ทำการส่งเสริมสะดุด

[caption id="attachment_45373" align="aligncenter" width="338"] ยู เจียรยืนยงพงศ์  ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยู เจียรยืนยงพงศ์
ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย[/caption]

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปเร่งการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบี20 เพื่อดูดซับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรนั้น ในฐานะกลุ่มรถบรรทุกที่ใช้ดีเซลในภาคขนส่ง มีความเห็นว่า ยังไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ เนื่องจากยังพบปัญหาไขปาล์มที่อุดตันหัวฉีด และยิ่งไปในพื้นที่อากาศหนาว จะสตาร์ตเครื่องติดยาก

นอกจากนี้หากรถบรรทุกขึ้นเนินหรือภูเขา จะเร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลที่ผสมบี 100 ไม่เกิน 7 %หรือดีเซลบี 7 อย่างไรก็ตามทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) มีนโยบายส่งเสริมนำร่อง ซึ่งกลุ่มมีความเข้าใจ แต่อยากให้เน้นใช้ไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ทางการเกษตรมากกว่า เนื่องจากระบบเครื่องยนต์ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนรถบรรทุกขนาดใหญ่

ขณะเดียวกันจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบี20 ไม่จูงใจมากนัก เพราะเมื่อนำไบโอดีเซลบี100 ซึ่งมีราคาสูงมาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซล จะทำให้ราคาต้นทุนสูงตามไปด้วย นอกจากนี้พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันบี100 ในประเทศก็ยังไม่เพียงพอ ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภค ดังนั้นอาจทำให้นโยบายของภาครัฐไม่เสถียรภาพ

"ส่วนตัวเห็นว่าการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบี20 เป็นโครงการนำร่องได้ แต่ยังไม่เหมาะสมที่จะใช้จริงในช่วงนี้ เพราะราคาน้ำมันถูก ขณะที่การใช้บี100 จำนวนมาก ปัญหาที่พบบ่อยเป็นไขปาล์มอุดตันหัวฉีด โดยเฉพาะเครื่องยนต์ระบบคอมมอนเรลก็ไม่สามารถใช้ไบโอดีเซลบี20ได้ เพราะเป็นระบบหัวฉีด เกิดการอุดตัน ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง 35-40 บาทต่อลิตร กลุ่มรถบรรทุกเคยหันไปใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20-80 มาก่อนแล้ว จึงเข้าใจปัญหาเหล่านี้ แต่หากกระทรวงพลังงานยืนยันที่จะใช้ ก็เป็นโครงการนำร่องได้ แต่ส่วนตัวมองว่าเกิดยาก"นายยู กล่าว

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธีบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างนำร่องทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี20 ในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ ระยะทาง 4 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยดูดซับปาล์มได้ 5 พันตัน หรือคิดเป็นไบโอดีเซลบี20 จำนวน 28 ล้านลิตร จากการทดสอบเบื้องต้นพบว่ากลุ่มรถบรรทุกสามารถใช้ไบโอดีเซลบี20ได้ ภายหลังผลทดสอบเรียบร้อยแล้วภายในปลายปีนี้ กรมจะเสนอไปยังกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เพื่อกำหนดเป็นสเปกน้ำมันออกมาขยายผลในการใช้ต่อไป

ส่วนโครงการนำร่องใช้ไบโอดีเซลบี 10ที่ผ่านมาก็ทดลองใช้ไบโอดีเซลบี10 ในรถกระบะแล้ว พบว่าไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ยังกังวลในช่วงนี้คือราคาต้นทุนน้ำมันบี100 ที่สูงอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นที่ 10 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง โดยในช่วงที่เริ่มโครงการ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน 115 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันบี100 ไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังต่างกันเช่นนี้ เชื่อว่าการดำเนินโครงการจะเหนื่อยขึ้นมาก

"โครงการนำร่องเป็นเพียงการศึกษาเทคโนโลยีว่าสามารถรองรับไบโอดีเซลบี 20ได้หรือไม่ เบื้องต้นไม่พบปัญหา และในอนาคตจะต่อยอดไปยังเครื่องยนต์ชนิดอื่นๆ หรืออาจเพิ่มสัดส่วนการผสมเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตทาง ธพ.จะมีมาตรฐานรองรับต่อไป"นายธรรมยศ กล่าว

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงมีเป้าหมายส่งเสริมให้รถปิกอัพใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี10 หากประสบความสำเร็จจะเพิ่มปริมาณการใช้บี100 เป็น 14 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2579 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.9 ล้านลิตรต่อวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559