ความเชื่อมั่นครัวเรือนที่ลดลงต่อเนื่อง...ตอกย้ำสัญญาณที่อ่อนแอของการบริโภค

12 เม.ย. 2559 | 09:46 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทความเรื่อง “ความเชื่อมั่นครัวเรือนที่ลดลงต่อเนื่อง...ตอกย้ำสัญญาณที่อ่อนแอของการบริโภค”

จากผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยล่าสุด สะท้อนว่า หลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาระค่าครองชีพยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ครัวเรือนส่วนใหญ่จะชั่งน้ำหนักก่อนที่จะตัดสินใจใช้จ่าย โดยเฉพาะรายการรายจ่ายในส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนมี.ค. 2559 ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 43.6 เช่นเดียวกับดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวลดลงมาที่ 45.0 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

บรรยากาศการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของครัวเรือนทุกภาคส่วนนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2559 เป็นต้นมา เป็นภาพสะท้อนข้อเท็จจริงหนึ่งที่ว่า ตราบใดที่สัญญาณด้านรายได้ของครัวเรือนยังคงไม่กระเตื้องขึ้นอย่างเด่นชัด และ/หรือ มีปัจจัยพิเศษมากระตุ้นการตัดสินใจใช้จ่ายแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่การบริโภคจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ซึ่งต่ำลงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.1

ทิศทางการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่แล้ว ก็อาจมีส่วนกระตุ้นความกังวลลงไปในระดับภาคครัวเรือน ผ่านสถานการณ์ด้านรายได้และการมีงานทำ ที่ในหลายๆ ภาคส่วนก็จะมีความผันแปรไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากการติดตามเครื่องชี้ด้านแรงงานตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา พบว่า จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรและภาคการผลิต (มีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 47 ของผู้มีงานทำทั้งหมด) ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงเดียวกันในปี 2558 (แม้ว่าจำนวนผู้มีงานทำในภาพรวมจะมีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในปีก่อนหน้าก็ตาม) ซึ่งภาพดังกล่าว ก็เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ประเด็นเรื่องรายได้ฟื้นตัวช้าจะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนมี.ค. 2559 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 43.6 จาก 44.2 ในเดือนก.พ. 2559 โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านรายได้ ซึ่ง ณ ขณะนี้ เครื่องชี้รายได้ที่แท้จริงในและนอกภาคเกษตร ยังคงไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน จนสามารถชดเชย/ลบล้างมุมมองเชิงลบของหลายครัวเรือนที่มีต่อภาระหนี้สิน

ทั้งนี้ ดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองของครัวเรือนต่อเรื่องค่าตอบแทนจากการทำงานและหนี้สิน ลดต่ำลงตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนว่า ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยดัชนีมุมมองเรื่องค่าตอบแทนจากการทำงานในเดือนมี.ค. 2559 ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 46.9 จาก 47.1 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ ดัชนีมุมมองต่อภาระในการชำระหนี้ ดิ่งลงแตะระดับ 42.5 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 44.1 ในเดือนก.พ. ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสถิติหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ระดับหนี้ครัวเรือนอาจทรงตัว-มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่กรอบร้อยละ 81.5-82.0 ต่อจีดีพีในช่วงสิ้นไตรมาส 1/2559 จากระดับร้อยละ 81.5 ต่อจีดีพีในช่วงปลายปี 2558

สำหรับช่วง 3 เดือนข้างหน้า ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อประเด็นค่าครองชีพ ซึ่งอาจสะท้อนว่า บรรยากาศการใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคอาจเผชิญกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดต่อเนื่องไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยดัชนีที่สะท้อนมุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month expected KR-ECI) ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 45.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองต่อรายได้และเงินออมในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นมาที่ 49.1 และ 48.9 จากระดับ 48.6 และ 48.7 ในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นนัยว่า ครัวเรือนยังมีความคาดหวังว่า สถานการณ์รายได้น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลเร่งรัดผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดทำงบกลางปี และโครงการลงทุนของรัฐบาล ที่น่าจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานได้เพิ่มมากขึ้น

โดยสรุป   ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน หรือ KR-ECI ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา โดยล่าสุดมาอยู่ที่ 43.6 ในเดือนมี.ค. 2559 ซึ่งนอกจากจะสะท้อนว่า ความเชื่อมั่นต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของการบริโภคของภาคเอกชน ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.3) ซึ่งต่ำลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.1 โดยประเด็นเสี่ยงของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ อาทิ ภัยแล้ง และความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก น่าจะมีผลกดดันให้การฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือนอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และอาจจะยังไม่สามารถชดเชยกับภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ความหวังในระยะข้างหน้าจะอยู่ที่ว่า การใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการต่างๆ จะสามารถช่วยหนุนการฟื้นตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพใหญ่ พร้อมๆ กับประคับประคองความเชื่อมั่นในระดับครัวเรือน ได้หรือไม่ในระยะต่อจากนี้ เมื่ออีกหลายบททดสอบยังรออยู่ ทั้งประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่อาจลากยาวเข้าสู่ช่วงกลางปี และตารางเวลาสำหรับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ยังคงเดินหน้าต่อไป