6 ส.ค. 2563 รำลึก 75 ปี “ระเบิดนิวเคลียร์” สนั่นที่ฮิโรชิมา

06 ส.ค. 2563 | 04:15 น.

6 สิงหาคม 2563 เป็นวันครอบรอบ 75 ปีของเหตุการณ์ที่สหรัฐนำระเบิดปรมาณู "ลิตเติล บอย" ไปทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140,000 คน แม้สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่โลกก็ยังมีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานอยู่อีกมากมายในปัจจุบัน

เหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงที่ท่าเรือเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอนเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายย่อยยับ พื้นที่โดยรอบท่าเรือถูกแรงระเบิดทำลายราบเป็นหน้ากลองดังปรากฏภาพเป็นข่าวไปทั่วโลก คลิปวิดีโอที่ถูกบันทึกโดยผู้เห็นเหตุการณ์แสดงภาพการระเบิดที่ส่งควันหนาทึบสีขาวพวยพุ่งเป็นเหมือนดอกเห็ดดอกใหญ่ก่อตัวอย่างรวดเร็วบนท้องฟ้า เป็นภาพน่าสะพรึงกลัวที่ทำให้หลายคนต้องย้อนนึกถึงภาพ เหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก ที่ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2488 ซึ่งหากนับย้อนไป วันนี้นับเป็นวันครบรอบ 75 ปีของเหตุการณ์ระเบิดครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว

 

ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิมาในทันทีหลังระเบิดลงมากกว่า 70,000 คน และยอดผู้เสียชีวิตนับจนถึงสิ้นปี 2488 ราว 140,000 คนทั้งจากอาการบาดเจ็บและผลเกี่ยวเนื่องต่อสุขภาพอันเกิดจากกัมมันตภาพรังสีของระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อเรียกว่า “ลิตเติลบอย”

อนุสรณ์สถานฮิโรชิมาในปัจจุบัน

ภาพอดีต

การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ของประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการโจมตีจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา โดยคำสั่งของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน

 

หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ 67 เมืองของญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน สหรัฐตัดสินใจปิดฉากสงครามด้วยการสั่งทิ้ง “ระเบิดปรมาณู” หรือ “ระเบิดนิวเคลียร์” ในญี่ปุ่น โดยเป้าหมายแรกคือเมืองฮิโรชิมาในวันที่ 6 ส.ค. 2488 และต่อมาคือเมืองนางาซากิในวันที่ 9 ส.ค. หรือ 3 วันให้หลัง นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงครามของโลก โดยระเบิดปรมาณูลูกที่ถูกทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมามีชื่อว่า "เด็กน้อย" หรือ "ลิตเติลบอย" ส่วนลูกที่ถูกทิ้งลงในเมืองนางาซากิ มีชื่อว่า “ชายอ้วน" หรือ "แฟตแมน"  

 

แม้ว่าเป้าหมายการทิ้งระเบิดของสหรัฐในครั้งนั้นคือการเผด็จศึกญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม แต่ผู้ที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูในครั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนของทั้งสองเมือง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระเบิดช็อคโลก! ที่ท่าเรือเลบานอน (คลิป)

เปิดภาพวินาที "ระเบิดยักษ์" กวาดกรุงเลบานอน

‘ระเบิดเบรุต’ ดับแล้ว 100 เจ็บกว่า 4,000 สูญหายอื้อ เร่งหาผู้รอดชีวิต (มีคลิป)

 

6 ส.ค. 2563 รำลึก 75 ปี “ระเบิดนิวเคลียร์” สนั่นที่ฮิโรชิมา

ญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2488 หรือหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองเป็นเวลา 6 วัน และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งนับเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ก.ย. 2488 การถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกมีส่วนทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องยอมรับหลักการ 3 ข้อว่าด้วยการห้ามมีอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่นั้นมา

 

ชาวเมืองฮิโรชิมาที่เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีคำเรียกขานในภาษาญี่ปุ่นว่า hibakusha แปลว่า “ผู้รอดชีวิตจากระเบิด” หลายคนยังมีชีวิตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตถึงมหันตภัยของสงครามและอาวุธนิวเคลียร์

 

มาซาอากิ ทาคาโนะ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ปรมาณูที่ฮิโรชิมา ปัจจุบันมีอายุ 82 ปี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอ็นบีซีว่า แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานแล้ว แต่เขาก็ยังจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดี วันที่เขาเดินกลับจากโรงเรียนท่ามกลาง “สายฝนสีดำ” ซึ่งคือเถ้าละอองของระเบิดที่ร่วงหล่นลงมาจากท้องฟ้าราวกับสายฝน ทาคาโนะและผู้รอดชีวิตอีก 83 คนเพิ่งได้รับการตัดสินจากศาลในญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆนี้ ว่าพวกเขาที่ร่วมกันยื่นร้องเรียนต่อศาล เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจาก “ฝนดำ” ดังกล่าว แม้ว่าพวกเขาจะอยู่นอกรัศมีของจุดระเบิดในช่วงเวลานั้น แต่คำตัดสินของศาลก็เป็นเครื่องยืนยันว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู

 

“มันอาจจะดูว่าสิ่งที่เราทำมันสายไปและหลายคนก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่เราต่อสู้เรื่องนี้ก็เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ” ทาคาโนะกล่าว และว่า เขายังจำได้ดีวันที่ 6 ส.ค. 2488 เขาในวัย 7 ขวบเดินกลับจากโรงเรียน แม้จุดนั้นจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางของการระเบิดถึง 12 ไมล์ (ประมาณ 19.3 กิโลเมตร) แต่เขาก็เห็นแสงสว่างวาบมากซึ่งเจิดจ้ากว่าแสงของฟ้าแลบ และเสียงระเบิดกึกก้อง มีเศษซากสิ่งของต่าง ๆ ที่ถูกแรงระเบิดอัดและฉีกออกปลิวกระจัดกระจายและร่วงลงมาจากท้องฟ้าราวกับสายฝน ไม่กี่วันต่อมา เขาก็มีอาการไข้สูงและท้องร่วง แม้ว่าทาคาโนะจะหายป่วยในครั้งนั้น แต่ก็มีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ของการได้รับกัมมันตภาพรังสี นอกจากนี้ แม่ของเขายังได้รับกัมมันภาพรังสีและต้องเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งซึ่งเป็นผลข้างเคียงในช่วงเวลา 19 ปีต่อมา

 

6 ส.ค. 2563 รำลึก 75 ปี “ระเบิดนิวเคลียร์” สนั่นที่ฮิโรชิมา

ผู้ที่อยู่ในรัศมีของแรงระเบิดแต่รอดชีวิตได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเร็วกว่าครอบครัวของทานาโนะ  เช่นกรณีของนายเทตสึชิ โยเนะซาวะ ปัจจุบันอายุ 86 ปี ในเวลานั้นวันที่ระเบิดลงที่ฮิโรชิมา เขากำลังเดินทางอยู่ในรถไฟที่แน่นขนัด เขาและมารดารอดชีวิตจากแรงระเบิด แต่ทั้งคู่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากกัมมันตภาพรังสี เช่นผมร่วงหมดทั้งศีรษะ มารดาของเขาซึ่งมีอาการหนักกว่า มีเลือดออกตามเหงือก และรอยจ้ำสีม่วงทั่วไปบนผิวหนัง เธอเสียชีวิตในเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังวันที่ระเบิดถูกทิ้งลงมาจากท้องฟ้า

 

เรื่องน่าเศร้านอกเหนือจากความสูญเสียของชาวเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในครั้งนั้น ก็คือแม้เมื่อเวลาผ่านมาแล้วถึง 75 ปี แต่โลกก็ยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์ที่พร้อมถูกนำมาใช้จำนวนถึง 13,400 หน่วย (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศแห่งกรุงสตอคโฮล์ม หรือ Stockholm International Peace Research Institute ) ส่วนใหญ่เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่อยู่ในครอบครองของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ซึ่งต่างมีหัวรบนิวเคลียร์มากกว่า 6,000 หน่วย

 

แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันจะมีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับในยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ต่างฝ่ายต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และมีจำนวนรวมทั่วโลกราว 65,000 หน่วย แต่ถ้าพูดถึงแสนยานุภาพหรือพลังการทำลายล้าง พบว่าอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันมีความรุนแรงกว่าในอดีตมากหลายเท่า

 

ดาริล คิมบอลล์ ผู้อำนวยการสถาบัน Arms Control Association ซึ่งเป็นองค์กรกลางไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ถ้าหากมีประเทศคู่กรณียิงอาวุธนิวเคลียร์ใส่กันไม่ถึง 1,000 ลูก จะทำให้มีคนตายได้ถึง 100 ล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น “สงครามนิวเคลียร์ไม่ทำให้ใครเป็นผู้ชนะ และจะต้องไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันสกัดกั้นไม่ให้สงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้ในโลก”  

 

ข้อมูลอ้างอิง

Atomic bomb dropped on Japan's Hiroshima 75 years ago still reverberates

As Hiroshima bombing turns 75, a look at 6 changes to nuclear arms under Trump