AUTOMOTIVE CITY อนาคตอุตฯยานยนต์ไทย

19 เม.ย. 2559 | 09:30 น.
เมื่อเร็วๆนี้สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้จัดเสวนาในหัวข้อ "Automotive City"กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ และให้ข้อมูลนโยบายด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมไปถึงการกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก วิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ,ถาวร ชลัษศเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ประธานคลัสเตอร์ยานยนต์ มาร่วมเสวนาและให้ข้อมูล

นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า "Automotive City"กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต" จะช้าไม่ได้เด็ดขาด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอาทิ มาเลเซีย มีการผลักดันนโยบายให้เป็นศูนย์อาเซียน-เอ็นแคป และการสนับสนุนเครื่องยนต์ ไฮบริด ซึ่งเป็นการตัดสินใจทำและดำเนินงานกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่อินโดนีเซีย มีการเชิญที่ปรึกษามาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับสนามทดสอบ ซึ่งหากประเทศไทยช้าและถูกประเทศเพื่อนบ้านตัดสินใจเริ่มก่อน จะถือเป็นการเสียโอกาส

อย่างไรก็ตามความคืบหน้าล่าสุด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีก็คือการที่ ครม.มีการอนุมัติหลักการตั้งศูนย์ทดสอบรถยนต์แล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณางบประมาณ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ไปอีก 1 ปีจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนของโครงการดังกล่าว

สำหรับศูนย์ทดสอบรถยนต์ หรือ Auto –Technopolis (Auto City) ของไทย จะตั้งอยู่บนเนื้อที่ 1.2 พันไร ของ สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นทำเลที่ดีอยู่ตรงกลางของผู้ผลิตรถยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ นอกจากนั้นแล้วยังอยู่ในทำเลที่เชื่อมโยงกับภูมิภาค CLMV ทำให้ได้เปรียบเรื่องการขนส่ง

 17 บริษัท 23 โรงงาน

ขณะที่นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานคลัสเตอร์ยานยนต์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในยุคที่ 4 ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2546 – ปัจจุบัน โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมฯมีกำลังการผลิตกว่า 2.8 ล้านคัน แต่ผลิตจริงๆประมาณ 2 ล้านคัน และแม้ว่าจะผลิตได้เป็นจำนวนมากแต่ว่าขาดการพัฒนา ดังนั้นการบ้านของไทยก็คือหลังจากปี 2560 ไปอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะทำอย่างไร จะไปในทิศทางไหน

ปัจจุบันโครงสร้างคลัสเตอร์และซัพพลายเชน อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างเครื่องจักรกล,เครื่องมือและอุปกรณ์ทางกล,แม่พิมพ์ ,เครื่องมือและอุปกรณ์ชิ้นส่วน โดยมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ 8 บริษัท 8 โรงงาน ,ผู้ผลิตและประกอบรถยนต์นั่ง/กระบะ 17 บริษัท 23 โรงงาน และมีผู้ประกอบรถยนต์มากว่า 1 แสนคน มีตัวแทนจำหน่าย ศูนย์บริการอีกกว่า 2 แสนคน ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีจำนวน 386 บริษัทฯ ,ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ 122 บริษัทฯ,และผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานยนต์ 201 บริษัทฯ ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 ส่วนเทียร์ 2 และ 3 นั่นมีผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางและขนาดเล็ก 1.7 พันบริษัท ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มเมื่อรวมกันจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 4.5 แสนคน และอุตสาหกรรมสนับสนุน 1 แสนคน

"กลุ่มซัพพลายเชนในบ้านเราไม่ถูกผูกขาด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป้าหมายในอนาคตคือการผลักดันให้เทียร์ 2 ก้าวข้ามมาในระดับที่สูงกว่า เช่นเดียวกับเทียร์ 3 ก็ต้องขยับขึ้นมา โดยเรายินดีที่จะเปิดรับต่างชาติแต่ว่าจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรามากขึ้น"

 ปี 2563 ผลิต 3 ล้านคัน

โดยเป้าประสงค์ในปี 2563 ประกอบไปด้วย มูลค่าการผลิตคิดเป็น 12% ของจีดีพีไทย หรือ ผลิตที่ 3.0 ล้านคัน ,เพิ่มผลิตภาพการผลิต 8 % ต่อปี 3.0 คัน/คน/ปี เป็น 4.5 คัน/คน/ปี ,มูลค่าการส่งออก ยานยนต์และชิ้นส่วน 2 ล้านล้านบาทต่อปี ,ปรับปรุงโครงสร้างกำลังแรงงาน สู่เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง ,โลคัล คอนเทนต์ แวลู 30 % เพิ่มเป็น 40 % ปี 2563 และ 50 % ปี 2568 และผลักดันให้เกิด Auto –Technopolis (Auto City)เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 ยุทธศาสตร์ 4 ข้อขับเคลื่อนคลัสเตอร์

จากเป้าประสงค์ที่วางไว้ในปี 2563 จะถูกผลักดันโดยแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยมีเป้าหมายคือการผลักดันอุตสาหกรรมให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนพร้อมทั้งมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากภายในประเทศ โดยมียุทธศาสตร์ คือ 1.ยกระดับมาตรฐานและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิต ผ่านแผนปฏิบัติการ อันประกอบไปด้วย การจัดตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถนะยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Research and Testing Center ARTC) ,จัดตั้งศูนย์/สถาบันเครื่องกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิต (Manufacturing Automatic and Robotic Instituter MARI)เพื่อสนับสนุนและยกระดับ Manufacturing Technology (Automatic Robot) ,จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ (Research Development and Design R&D) และ การสร้างความร่วมมือกับ มจธ.เพื่อจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

2.พัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจของชิ้นส่วนยานยนต์ ผ่านแผนปฏิบัติการอย่าง ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการชิ้นส่วน ยานยนต์ เพื่อให้มีการเกื้อกูลกันทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการตลาด และส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (Product Champions) 3.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านแผนปฏิบัติการอย่างการส่งเสริมและดำเนินงานของสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Automotive Human Resouurce Development Acadamy AHRDA) ที่บางพลี

นอกจากนั้นแล้วจะมีการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นและเยอรมนีในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,มีการทำ แฮปปี้ เวิร์ค เพลส ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และทำมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สมบูรณ์ และ 4. สร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ ผ่านแผนปฏิบัติการอย่างจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน อาทิ กำลังคน ,ส่งเสริมกิจกรรมลดต้นทุนภายในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity)

 ทรัค & บัส โปรดักต์แชมเปี้ยน

นายถาวร กล่าวว่า เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในปี 2533 ที่มีโปรดักต์ แชมเปี้ยน คือกระบะขนาด 1 ตัน ต่อมาในปี 2552 โครงการอีโคคาร์ เฟส 1 ได้เริ่มขึ้น และในปี 2558 โครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ก็เริ่มเดินหน้า ซึ่งเมื่อมองจากศักยภาพและความเป็นไปได้ คาดว่าจะมีการผลักดัน รถบัสและทรัค ให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวต่อไปของไทย ซึ่งหากทำได้จริง ก็จะเกิดประโยชน์มากมาย อาทิ เพิ่มการใช้ชิ้นส่วนฯภายในประเทศ และขยายไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต่อตัวถัง ,ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานรถยนต์และชิ้นส่วนโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ,เพิ่มการลงทุนของอุตสาหกรรมและส่งผลให้เกิดการจ้างงาน ,ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และเพิ่มการเติบโตของจีดีพี ,เพิ่มมูลค่าการส่งออกในภูมิภาค CLMV ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภค และสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการขนส่งและการท่องเที่ยวในภูมิภาค

ขณะที่เทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด ,อีวี หรือ เชลส์เชื้อเพลิง(Fuel cell)ยังเป็นกลุ่มที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะปัจจุบันยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถในกลุ่มนี้มากกว่า 80 % ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเป็นฐานการผลิตรถประเภทนี้จะต้องสามารถผลิตชิ้นส่วนได้มากถึง 50 % และชิ้นส่วนเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักก็คือ การผลิตลิเธียม แบตเตอรี่ ,มอเตอร์ไดรฟ์และคอนโทรล ยูนิต ขณะเดียวกันปัจจัยที่ต้องคำนึงก็คือ ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศของรถประเภทนี้ ,สถานีบริการชาร์จไฟ,กำลังไฟในช่วงเวลาเร่งด่วนจะเพียงพอหรือไม่ ,แหล่งที่มาของพลังงาน และการจัดการกับของเสียหรือการรีไซเคิล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559