Last Update...รับมือ‘ภัยแล้ง’ยังอยู่ในแผนเตือนอย่าวางใจ ‘จุดเสี่ยง’ ยังมี

20 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
ต้องเกาะติดแบบปล่อยไม่ได้ กับสถานการณ์น้ำแล้งในภาวะปัจจุบันที่ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉเพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการนับถอยหลังงวดยิ่งเป็นไปอีก เพื่ออัพเดตข้อมูลล่าสุด ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง(บสส.) รุ่น 6 ของสถาบันอิศรา ได้จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "ฝ่า...วิกฤตน้ำ" โดยมีตัวแทนหน่วยงาน 4 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องอีกรอบ "ฐานเศรษฐกิจ"ติดตามมารายงานเพื่อการเตรียมตัวรับมือโดยละเอียด

[caption id="attachment_45590" align="aligncenter" width="700"] เปิดแผนรับมือแล้ง เปิดแผนรับมือแล้ง[/caption]

 ปีนี้ไม่เลื่อนฤดูทำนา

โดยนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กล่าวยืนยันว่า หากบริหารจัดการอย่างที่ผ่านมา เชื่อว่าไม่มีปัญหา ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำเพียงพอจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งยังเชื่อมั่นว่า ปีนี้จะไม่มีการประกาศเลื่อนฤดูทำนาปีเหมือนกับปีที่ผ่านมาอีก เพราะกรมชลฯจะใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำท่า ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจำลองสถานการณ์ และจะสามารถชี้แจงรายละเอียดได้ภายหลัง
อย่างไรก็ดี สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น สถานการณ์น่าห่วง เพราะมีพื้นที่ที่เข้าใกล้วิกฤติเกินครึ่งของประเทศ รวมแล้วมากถึง 152 อำเภอใน 42 จังหวัด

 อ่างน้ำทุกเขื่อนยังไม่วิกฤติ

ทั้งนี้ แหล่งน้ำสำคัญของไทย ประกอบด้วย แหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 33 แห่ง แหล่งน้ำขนาดกลาง ซึ่งกักเก็บน้ำได้น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จำนวน 448 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกกว่า 1 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยพื้นที่ในเขตชลประทานมีปริมาณน้ำคิดเป็น 22% ของแหล่งกักเก็บ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 4 พันล้านลบ.ม. ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักใน 22 จังหวัด กินพื้นที่ 9.5 ล้านไร่ มีปริมาณเพียง 12 % ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 2 พันล้านลบ.ม. จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง

"สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรนั้นจะเน้นเกษตรกรที่ปลูกพืชต่อเนื่อง ส่วนการทำนาขอความร่วมมือ ไม่ใช่งด เพราะในบางพื้นที่มีแหล่งน้ำบาดาลอยู่ ซึ่งเกษตรกรสามารถที่จะประเมินตัวเองได้" นายทองเปลว กล่าว

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มองว่า อาจมีศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปัจจุบันใช้น้ำที่ระดับต่ำสุด ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้าไป 8 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว แม้จะเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ถ้าน้ำลดต่ำลงเรื่อยๆ ไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่ม จะต้องลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำลง อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตเมื่อปี 2536-2537 ส่วนเขื่อนภูมิพลนั้นใช้น้ำสำรอง แต่ยังไม่มีผลต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ยืนยันว่าทุกเขื่อนยังมีปริมาณสำรองที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด

 ชาวนาชงทำแผนฉุกเฉินรายปีรับมือ

หันมาที่นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และเลขานุการคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตัวแทนจากภาคเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลประกาศภัยแล้งทุกปี แต่ชาวนาพื้นที่ในเขตชลประทานกลับพบปัญหามากที่สุด ขณะที่ชาวนานอกเขตชลประทานนั้นสามารถปรับตัวได้ เพราะทำนาครั้งเดียว

ส่วนนโยบายภาครัฐที่ช่วยเกษตรกรนั้นเห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจดีแต่ยังขาดข้อมูลการวางแผน นโยบายดี ถูกใจเกษตรกร แต่ความต้องการระดับพื้นที่ไม่ตรงกับนโยบาย เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อยซึ่งเคยเสนอเมื่อต้นปี 2558 แล้วว่าต้องเตรียมการ แต่ไม่มีการดำเนินการ เมื่อถึงเวลามีภัยก็มีการสั่งการแบบกะทันหันจากส่วนกลาง และกำหนดวันเวลาให้แล้วเสร็จ ทำให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคต้องเร่งทำ เพราะกลัวความผิดจนทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนกับเจ้าหน้าที่น้อยมาก

ขณะเดียวกันข้อมูลก็กระจัดกระจาย ไม่ตรงกัน ไม่มีข้อมูลระดับพื้นที่ ทำให้การแก้ปัญหาผิดวัตถุประสงค์ เช่น โครงการหมู่บ้านละ 5 ล้านบาท ที่สั่งการและเร่งทำโดยไม่มีข้อมูล สุดท้ายก็ไปจบที่การขุดลอกคูคลอง การสร้างศาลา นั่นเป็นเพราะทุกอย่างยังรวมศูนย์ อำนาจตัดสินใจยังอยู่ที่ส่วนกลาง การเร่งดำเนินการทำให้เงินไม่ลงไปสู่พื้นที่ และไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ขอเสนอแนะว่า ให้ทำแผนประจำปีหรือแผนพัฒนาเกษตรกรตามความต้องการของเกษตรกร เมื่อเกิดเหตุเร่งด่วนก็ไม่จำเป็นต้องสอบถามเกษตรกรอีกสามารถที่จะทำได้ทันที

 นิคมฯรอดแถมช่วยแจกชุมชน

ด้านนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรมนั้นอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนลบ.ม.ต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนคิดเป็น 0.00365 % เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า น้ำที่นิคมอุตสาหกรรมใช้นั้นมีปริมาณที่น้อยมาก และยืนยันว่า การใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรม ไม่กระทบต่อการปล่อยน้ำของกรมชลประทานอย่างแน่นอน โดย กนอ.เองมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 นี้อย่างเต็มที่ มี 3 มาตรการเตรียมรับมือแล้ว คือ

1.นำน้ำที่ผ่านการบำบัด หรือน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) 2.มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง และ 3.มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียง มาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนิคมฯต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคกลาง ให้มีน้ำใช้ในภาคการผลิตอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้

"ท่านประธานบอร์ด กนอ. (พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร) ได้เห็นภาพรวมการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดแล้ว บอกว่าเฉพาะในส่วนของนิคมฯ เรารอดแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ชุมชนรอบนิคม ทั้งที่จังหวัดลำพูน พิจิตร และหนองแค จ.สระบุรี ซึ่ง กนอ.ก็ได้เตรียมการแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนด้วย" รองผู้ว่า กนอ.กล่าว

 มองข้ามชอร์ตระวังชิงทำนาปี

ด้านรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ยืนยันว่า การจัดการน้ำระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยพึ่งเพียง 2 อย่าง คือ 1.การจัดการจากส่วนกลาง และ 2.พระสยามเทวาธิราช ซึ่งจะปล่อยแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีการแก้ปัญหาระยะยาวให้นิ่งให้ได้ และการจัดการน้ำในเขื่อนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องจัดการเป็นรายปี สิ่งที่คนไม่เข้าใจโดยเฉพาะนักการเมือง คือ การบริหารน้ำในเขื่อนหากพร่องลงไปจะอันตรายมาก และต้องใช้เวลาสะสมให้น้ำเข้าสู่ปริมาณปกติ และการจัดการเป็นระบบรวมศูนย์จะอ่อนไหวต่อการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ สำหรับปีนี้การทำนาปรังจะลดลง เนื่องจากราคาข้าวลดลง และกรมชลฯไม่ปล่อยน้ำให้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างจะไม่ลดการทำนาปีลง เนื่องจากรู้ก่อนหน้าอยู่แล้วว่า น้ำจะแล้งจึงรีบปลูกข้าวเพราะมองว่าคนทำก่อนจะได้น้ำก่อน ดังนั้น รัฐจึงต้องรู้พฤติกรรมลักษณะนี้ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นเกมการเมืองและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ไปตลอด

"โดยส่วนตัวเชื่อว่าปริมาณน้ำปีนี้อาจจะไม่เพียงพอ จะต้องมีคนทำนาปี เพราะถือเป็นหัวใจของเกษตรกรโดยเฉพาะภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมในช่วงปลายฝนที่ต้องเร่งทำนาก่อน ดังนั้น หากมีปริมาณน้ำฝนเท่าเดิมแต่มีการเริ่มทำนาปีก็อาจจะกระทบได้"

 เสนอตั้งองค์กรน้ำถาวร

ที่ผ่านมาการจัดการน้ำของไทยเป็นแบบรวมศูนย์ แต่กระจายในหลายกระทรวง และปล่อยให้มีการใช้น้ำฟรี นิคมอุตสาหกรรม เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำฟรี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเป็นเงินค่าน้ำเพียง 16 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือมาจัดการในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นภาวะน้ำท่วม น้ำแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบ่อย อาจจะมีปัญหาตามมาได้

นอกจากนี้ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาจะมีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เมื่อผ่านวิกฤติก็ไม่มีการสั่งสมองค์ความรู้ เสนอแนะว่าต้องมีคณะกรรมการถาวร สามารถสั่งงานข้ามกระทรวง มีอำนาจตัดสินใจ มีหน่วยงานมารองรับหากไม่มีวิกฤติก็ต้องทำหน้าที่วางแผนรับมือเมื่อเกิดวิกฤติได้ พร้อมที่จะเผชิญเหตุได้ทันท่วงที

Photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559