ครึ่งปีมาร์เก็ตแคปกลุ่มแบงก์วูบ 6.5 แสนลบ. SCB อ่วมสุด -41%

09 ก.ค. 2563 | 00:00 น.

ครึ่งปีมาร์เก็ตแคปกลุ่มแบงก์วูบ 6.5 แสนลบ. SCB อ่วมสุด -41% โบรกมองแบงก์ ต้องตั้งสำรองเพิ่มจากคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลงทุกกลุ่มหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ ฉุดกำไรครึ่งหลังทรุด 

 

ปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสถานการณ์ผลกระทบของโควิด-19  ทำให้ธนาคารมีภาระต้องสำรอง ประกอบกับรายได้ดอกเบี้ย (NIM)ที่เป็นขาลง ฉุดกำไรลดลง กดดันหุ้นในกลุ่มธนาคาร

นับจากสิ้นปี 62 ถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจาก 1,579.84 จุด ณ สิ้นปี 62 มาอยู่ระดับ 1,373.22 จุด หรือปรับลดลง 13.08% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารปรับลดลงจากระดับ 441.46 จุด มาอยู่ระดับ 288.76 จุด ( ณ 8 ก.ค. 63 ) หรือปรับลดลงแล้ว 34.59% 


จากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 9 ธนาคาร ณ วันที่ 7 ก.ค. 63  อยู่ที่ 1,191,054 ล้านบาท ลดลง 655,574 ล้านบาท หรือ -35.50% จากสิ้นปี 62 ที่มีมูลค่า 1,846,628 ล้านบาท โดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ) มูลค่าลดลงมากสุด 40.98% ตามด้วยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 39.90% ธนาคารกรุงไทย (KTB ) ลดลง 37.20%  ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP ) ลดลง 37.50% และธนาคารทหารไทย ( TMB ) ลดลง 36.90%
(ตารางประกอบ) 

 

ครึ่งปีมาร์เก็ตแคปกลุ่มแบงก์วูบ 6.5 แสนลบ. SCB อ่วมสุด -41%

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์  กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าของเงินให้สินเชื่อรอการตัดบัญชีอยู่ที่ระดับ 6.8 ล้านล้านบาทในกลางเดือนมิถุนายน คิดเป็น 35% ของสินเชื่อรวมของระบบ แม้จะมองว่ามีความเสี่ยงต่ำในประเด็นเพิ่มทุน แต่แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ที่เลื่อนออกไปจะนำไปสู่การลดทุนและมูลค่าทางบัญชี 

 

KBANK ระบุมูลค่าสินเชื่อภายใต้สัญญาพักชำระหนี้อยู่ที่ 8.28 แสนล้านบาทหรือ 40% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ SCB และ KKP ที่ 35%, KTB 20% และ TISCO 10% ขณะที่ BBL และ TMB ไม่เปิดเผยตัวเลข จากข้อมูลเหล่านี้ เราเชื่อว่าอัตราส่วน NPL ปัจจุบันและต้นทุนสินเชื่อไม่สะท้อนผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากธนาคารสามารถเลื่อนการปรับลดการจัดชั้นของสินเชื่อในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากมาตรการบรรเทาหนี้ 

 

นอกจากนี้ ธนาคารอาจบันทึกกำไรเกินจริงเนื่องจากสามารถบันทึกรายได้ดอกเบี้ยตามเกณฑ์คงค้างจากสินเชื่อที่ยังไม่ได้ชำระได้ และมองว่าการที่ ธปท.สั่งระงับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและซื้อคืนหุ้นเนื่องจากไม่ต้องการให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลจากผลกำไรที่สูงเกินจริง

 

บล.เมย์แบงก์ คาดธนาคารทั้ง 7 แห่งที่อยู่ในการศึกษา( BBL, SCB, KBANK, KTB, TMB, KKP,TISCO ) จะรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/63 ที่ 2.62 หมื่นล้านบาท ลดลง 36% YoY และ 29% QoQ เนื่องจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากส่วนต่างของดอกเบี้ย ( NIM )ที่ลดลง สินเชื่อจะเติบโต YoY เนื่องจากการชำระคืนหนี้ที่ลดลง  โดยคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะหดตัวจากการขายกองทุนรวมและ Bancassurance ที่อ่อนแอ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ การตั้งสำรองของทั้งกลุ่มคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 3.86 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/63  เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลงในทุกกลุ่ม 

 

NIM ไม่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 

แม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่จะสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้จากค่าธรรมเนียมกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ลดลงและดอกเบี้ยเงินฝากลดลงก็ตาม  แต่คาดว่ารายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM )จะลดลง QoQ ในไตรมาส 2 ถึง 4 อันเป็นผลจากการลดดอกเบี้ยหลายครั้ง การเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อรอการตัดบัญชี

 

แนะเลือกหุ้นปลอดภัยเป็น BBL (ราคาพื้นฐาน 130.00 บาท )  และ TISCO (ราคาพื้นฐาน 84.00 บาท ) เนื่องจากมีบัฟเฟอร์ที่แข็งแกร่งทนทานต่อการเสื่อมคุณภาพของสินทรัพย์ดีกว่าคู่แข่ง ขณะที่แนะนำ ขาย KBANK (ราคาพื้นฐาน 92.50 บาท )เนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอจากการหดตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้นจาก SMEs

 

ข้อมูล   :  ดูราคาหุ้นไทยพาณิชย์

ด้านบล.เคจีไอ (ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน)  ระบุว่าการผ่อนคลายการตั้งสำรองและโครงการบรรเทาผลกระทบของลูกหนี้ ทำให้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยืดไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากมีจำนวนลูกหนี้ที่ยื่นขอเข้าร่วมโรงการเป็นจำนวนมาก เราจึงมองว่าธนาคารส่วนใหญ่จะเตรียมสำรองพิเศษเพื่อรองรับความสี่ยง NPL หลังจากที่โครงการบรรเทาผลกระทบลูกหนี้สิ้นสุดลง 

 

คาดว่าธนาคารที่มีการปล่อยกู้สินเชื่อ SME สูงอย่างเช่น KBANK และ TMB จะกำหนดตั้งสำรองๆ (credit cos) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า KBANK จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.50% (จากเป้าทั้งปีของธนาคารที่ 1.50% ) และ TMB ที่ 1.60% (จากเป้าทั้งปีของธนาคารที่ 1.20-1.30%) และคาดว่าของ KTB จะอยู่ที่ 1.70% รวมสำรองพิเศษสำหรับหนี้การบินไทย ในขณะที่คาดว่าของ SCB/BBL จะอยู่ที่ 1.80% และ1.20% ทั้งนี้ เราคาดว่ามีแค่ TISCO เท่านั้นที่จะกำหนด credi cost ลดลงเนื่องจากมีการตั้งสำรองก้อนใหญ่เพื่อรองรับหนี้เสียเอาไว้แล้วตั้งแต่ในไตรมาส1/63

 

คาดกำไรกลุ่มธนาคารใน Q2/63  ( 8 ธนาคาร ยกเว้น TCAP ) จะอยู่ที่ 3.75 หมื่นล้านบาทลดลง 14% QoQ และ 25% YoY ใช้สมมติฐานว่าสินเชื่อธุรกิจเร่งตัวขึ้น ขณะที่ NIM หรือรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยทรงตัว QoQ  รายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงประมาณ 5% QoQ และ 10% YoY ส่วน NPLs เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า ในขณะที่ credit cost เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเราคาดว่า BBL และ KBANK จะพลิกจากที่มีผลขาดทุนจากการลงทุน ในขณะเดียวกัน credit cost จะกดดันให้กำไรของ KBANK ลดลงถึง 46% YoY ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้ "การบินไทย" จะกดดันกำไรของ KTB ให้ลดลงถึง 41%