ปริมาณการค้าโลกยังเติบโตตํ่า WTOคาดปีนี้อ่อนแอเป็นปีที่5

15 เม.ย. 2559 | 12:00 น.
องค์การการค้าโลกชี้ การค้าทั่วโลกในปีนี้จะเติบโตในระดับต่ำเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการชะลอตัวติดต่อกันนานที่สุดนับแต่ยุคค.ศ. 1980

ในรายงานคาดการณ์ฉบับล่าสุด องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ คาดการณ์ว่าปริมาณสินค้านำเข้าส่งออกทั่วโลกในปีนี้จะขยายตัวเพียง 2.8% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวในปี 2558 อย่างไรก็ดี ในรายงานระบุถึงความเสี่ยงด้านลบ และเน้นย้ำให้เห็นถึงการเติบโตของการค้าโลกที่ชะลอตัวมาเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันในระดับต่ำกว่า 3% "ระยะเวลาการเติบโตที่เป็นบวกแต่อยู่ในระดับต่ำยาวนานติดต่อกันเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" นักเศรษฐศาสตร์ของดับเบิลยูทีโอระบุ

คาดการณ์ล่าสุดนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ดับเบิลยูทีโอไม่ได้คาดการณ์การฟื้นตัวของการค้าโลก นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงจาก 3.4% ในการเปิดเผยรายงานสัปดาห์หน้า

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก แนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัวติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา เป็น 1 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2551

ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของการค้าโลกอยู่ในระดับที่สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกประมาณเท่าตัว เนื่องจากการเกิดขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่สำคัญๆ เช่น จีน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อาทิ ต้นทุนการคมนาคมขนส่งที่ลดลง ที่ส่งผลให้ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

การค้าโลกทรุดลงในปี 2552 จากผลของวิกฤติเศรษฐกิจ และฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2553 อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่นั้นปริมาณสินค้าที่มีการนำเข้าส่งออกยังทั่วโลกเติบโตขึ้นเพียงช้าๆ และในปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจที่มูลค่าการค้าหดตัวลง แม้ว่าปัจจัยส่วนหนึ่งจะมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง

ดับเบิลยูทีโอกล่าวว่า มูลค่าการค้าทั่วโลกเมื่อปีก่อนเมื่อคำนวณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ลดลง 13% เหลือ 16.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557

โรเบิร์ต คูปแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดับเบิลยูทีโอ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับการค้าโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาจากการหมุนเวียนของวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนส่งผลให้ความต้องการในแต่ละภูมิภาคผลัดกันลดลง อาทิเช่น ภูมิภาคเอเชียมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าโลกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ลดลง ส่งผลให้บทบาทของจีนในการขับเคลื่อนการค้าโลกลดลงตามไปด้วย

ข้อมูลของดับเบิลยูทีโอระบุว่า ในปี 2556 เอเชียช่วยเพิ่มปริมาณของสินค้านำเข้าทั่วโลกได้ 1.6-2.3% หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของการเติบโตทั้งหมด แต่ในปี 2558 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 0.6% หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ของอัตราการเติบโตทั่วโลกที่ 2.6% ขณะเดียวกัน ยุโรปที่เป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของความต้องการสินค้านำเข้า 0.1% ในปี 2556 มีบทบาทต่อการเติบโตของการค้าเมื่อปีก่อนถึง 1.5% หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559