ฺBenz EQC เลื่อนขายปีหน้า-ค่ายรถลงทุน EV ในไทย ทะลุหมื่นล้านบาท

30 พ.ค. 2563 | 00:25 น.

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยืนยันลุยผลิต "รถไฟฟ้า" ในไทย แต่ “อีวี” รุ่นแรกของค่าย ฺBenz EQC ต้องเลื่อนทำตลาดครั้งที่ 2 ไปเป็นปี 2564 จากไวรัสโควิด-19 ขณะที่ BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มอีก 4 บริษัท ดันยอดลงทุนรวมโครงการ "อีวี" กว่า 1 หมื่นล้านบาท

โควิด-19 พ่นพิษให้ค่ายรถยนต์ต้องปรับแผนการผลิตการทำตลาดในไทย เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าหลายโครงการ และในกลุ่ม “อีวี” รถพลังงานไฟฟ้า 100% มีความเคลื่อนไหวจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ที่จะเลื่อนทำตลาดรถรุ่น ฺBenz EQC ไปเป็นปี 2564

หลังจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ พูดคุยในรายละเอียดกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการนำเข้ารถมาทำตลาดก่อน “จำนวนหนึ่ง” โดยไม่เสียภาษีนำเข้า หากโครงการหรือรถยนต์รุ่นนี้มีแผนประกอบในเมืองไทย

นั่นหมายถึง การไม่เสียภาษีนำเข้า 80% (ไม่รวมภาษีตัวอื่นๆ) ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ EQC จะทำราคาได้น่าสนใจในการเปิดตลาด และเป็นราคาขายที่ไม่ต่างกันมาก เมื่อเอสยูวีพลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้ขึ้นไลน์ประกอบในประเทศ

ทว่ารถ “จำนวนหนึ่ง” ที่นำเข้ามาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าของ BOI (ขึ้นอยู่กับเงินลงทุน) ตํ่ากว่าที่เจ้าพ่อรถหรูจากเยอรมนีคาดหวังเอาไว้มาก จึงต้องเลื่อนแผนทำตลาด (ครั้งแรก) จากปลายปี 2562 ออกไป แต่มายืนยันอีกครั้งว่า เตรียมเปิดตัวพร้อมรับจองในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2020 เดือนมีนาคม (เลื่อนการจัดงานไปเป็นเดือนกรกฎาคม) และมีรถส่งมอบช่วงครึ่งหลังของปี (ล็อตนี้ประมาณ 250 คัน) ก่อนรุ่นประกอบในประเทศจะพร้อมปี 2564

ฺBenz EQC เลื่อนขายปีหน้า-ค่ายรถลงทุน EV ในไทย ทะลุหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แผนงานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ต้องขยับอีกครั้ง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความยากลำบากเพิ่มขึ้นในการผลิตและทำตลาด ทำให้ ฺBenz EQC ล็อตที่นำเข้ามาจากโรงงานประเทศเยอรมนีต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้า

ส่วนแผนลงทุนประกอบเอสยูวีรุ่นนี้ในไทย ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ยังเดินหน้าเหมือนเดิม ภายใต้แพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว มูลค่ารวม 949 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังร่วมมือกับ บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ในเครือธนบุรีประกอบรถยนต์ สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้เข้าเงื่อนไข BOI เพื่อได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสิทธิประโยชน์เบื้องต้น

ขณะที่ 2 คู่แข่งจากเยอรมนี มีแผนงานต่างกันไปในโครงการ “อีวี” เช่น “อาวดี้” ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนต่อ BOI และได้รับการอนุมัติ ทั้งประเภท อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด แล้ว แต่แผนการผลิตรถยนต์ในไทยจริงๆ ยังไม่มีความชัดเจน

ส่วน “อีวี” รุ่น “อี-ตรอน” ที่นำเข้ามาเปิดตัวในปี 2562 ราคา 5.099 ล้านบาท ตอนนี้เริ่มทยอยส่งมอบให้ลูกค้า ทั้ง กลุ่มฟลีตและทั่วไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งปลายปีนี้จะได้โควตาเพิ่มอีก 30-40 คัน

แม้ “อาวดี้” ในเครือโฟล์คสวาเกน ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย แต่ดิสทริบิวเตอร์อย่าง “ไมซ์สเตอร์เทคนิค” เดินหน้าลุยตลาดเต็มที่ พร้อมทำราคาขายรถยนต์หลายรุ่นให้สู้กับ เมอร์เซเดส-เบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยู (ที่รุ่นหลักๆ ประกอบในประเทศ) ส่วนแผน“อีวี” อาวดี้ประกาศเปิดตัวในไทยอย่างน้อย 1 รุ่นต่อปี

ฝั่ง “บีเอ็มดับเบิลยู” ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊ก-อินไฮบริด พร้อมปูพรมทำตลาดรถขุมพลังลูกผสมหลายรุ่น แต่สำหรับ “อีวี” มีโอกาสสูงที่จะใช้เครื่องมือ FTA นำเข้ารถจากจีนโดยไม่เสียภาษีนำเข้ามาทำตลาด

รายงานล่าสุดจาก ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เปิดเผยว่า มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ประเภท “อีวี” เพิ่มอีก 4 ราย คือ 1.บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด 2.บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท ทรัพย์ละออ จำกัด และ 4. บริษัท ทากาโน่ ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ส่งผลให้มีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการ “อีวี” รวม 12 ราย มูลค่าการลงทุน 10,125 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมกลุ่มไฮบริดอีก 5 ราย และ ปลั๊ก-อินไฮบริด 6 ราย

ทว่า ภายหลังจากเกิดวิกฤติ โควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ทั้ง การผลิต แผนในการแนะนำรถยน์รุ่นใหม่สู่ตลาด และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ อาจส่งผลให้หลายค่ายรถยนต์ต้องทบทวบแผนงานใหม่ ฺเช่นเดียวกับ Benz EQC และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย รุ่นอื่นๆ

สำหรับเป้าหมาย 10 ปีของรัฐบาลไทย หวังให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี,ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด) ได้ 30% จากกำลังการผลิตรวม 2.5 ล้านคันในปี 2573 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563