ทุ่ม20ล้านเปิดเว็บสินค้าเกาหลี เจาะนักช็อปออนไลน์/ยํ้าไม่มีขายในไทยเป้าปีแรก100ล้าน

12 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
นักธุรกิจเกาหลี ทุ่ม 20 ล้านบุกตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ เปิดเว็บไซต์ขายสินค้าตรงจากเกาหลี ส่งด่วนใน 2-5 วัน ชูราคาใกล้กับแดนกิมจิ พร้อมได้รัฐบาลการันตรีคุณภาพสินค้า รับเทรนด์คนไทยช้อปปิ้งออนไลน์และชอบสินค้าพรีออร์เดอร์จากเกาหลี วางเป้าปีแรกโกยยอดขาย 100 ล้าน

นายนัม ยอง ฮอ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ออริจินัลเมคเกอร์ จำกัด ผู้ให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์จากประเทศเกาหลี เปิดเผยว่า ได้ลงทุนเบื้องต้น 10 ล้านบาทโดยร่วมกับพันธมิตรได้แก่ วีเมคไพร์ซ (WemakePrice) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบการขนส่งสินค้า ในธุรกิจขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จากประเทศเกาหลี และบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลี ผ่านทางบริษัท กังวอน เทคโน พาร์ค จำกัด ที่จะเป็นผู้ดูแลและคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาจัดจำหน่าย ผ่านเว็บไซต์ Originalmaker.com ซึ่งจะเป็นการจัดจำหน่ายสินค้าจากประเทศเกาหลีโดยตรง และประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่บริษัทได้เข้ามาลงทุน

สำหรับสินค้าที่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว จะถูกส่งมาจากประเทศเกาหลีโดยตรง โดยใช้ระยะเวลาจัดส่ง 2-5 วัน มีกลุ่มสินค้าที่จำหน่ายรวมทั้งหมดกว่า 350 รายการ ได้แก่ สินค้าประเภทความงามและเครื่องสำอางสัดส่วน 63% รองลงมาจะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ 12% สินค้าสำหรับแม่และเด็ก 12% สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า 8% และอาหาร 5% ซึ่งภายใน 2 สัปดาห์จากนี้จะเพิ่มรายการสินค้าขึ้นเป็น 500 รายการ และภายใน 3 เดือนจะเพิ่มสินค้าให้มีมากกว่า 1 พันรายการ โดยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้อยู่แล้ว 70% และสินค้าท้องถิ่นที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเกาหลีอีก 30% โดยแบรนด์สินค้าเกาหลีที่เข้าร่วมจัดจำหน่ายผ่านช่องทางเว็บไซต์ อาทิ it’s skin, SNP, Innisfree, SKINFOOD, DEWYTREE, LANEIGE, The SAEM เป็นต้น

แนวทางการทำตลาดนั้น จะเน้นช่องทางออนไลน์ อาทิ เฟสบุ๊ค ยูทูป และ ไลน์ ซึ่งได้เตรียมงบประมาณการทำตลาดไว้ 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าภายในปีแรกจะมีสมาชิกเว็บไซต์จำนวน 10 ล้านคน ขณะที่วางเป้าหมายยอดขายในปีแรกไว้ 100 ล้านบาท ทั้งนี้จุดเด่นของเว็บไซต์จะเน้นสินค้าพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย รวมถึงราคาสินค้าจะใกล้เคียงกับที่วางจำหน่ายในประเทศเกาหลี หากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามเงื่อนไข จะไม่ต้องเสียค่าจัดส่งสินค้าด้วย ขณะเดียวกันยังจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และแชร์ข้อมูลสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการให้ลุ้นรับสินค้าที่ต้องการได้ฟรีด้วย

“สำหรับการชำระค่าสินค้าสามารถเลือกได้ 4 ช่องทาง อาทิ บัตรเครดิต วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด PayPal, MOLpay และ Paysbuy ความพิเศษของการซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์บริษัท คือ ลูกค้าไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีการจำกัดการซื้อต่อ 1 ครั้งไม่เกิน 8 พันบาทและหนึ่ง IP สามารถซื้อสินค้าได้ 5 ครั้งต่อเดือน และจัดส่งแบบอีเอ็มเอสใช้เวลา 2-5 วัน โดยจะเริ่มจัดส่งทันทีที่ผู้สั่งสินค้าชำระเงินทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว”

ด้านนายจุน ยอง ลี ผู้ก่อตั้งบริษัท ออริจินัลเมคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศเกาหลี ตลาดออนไลน์มีอัตราการเติบโดกว่า 22% ต่อปี เนื่องจากความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อหา ซึ่งในเกาหลี ได้มีการพัฒนาทั้งระบบจ่ายเงินและระบบส่งสินค้ามาโดยตลอด และยังพบว่าสินค้าเกาหลียังได้รับความนิยมในประเทศอื่นๆทั่วโลก ทำให้เห็นว่าสินค้าเกาหลียังสามารถเติบโตได้อีกมาก สำหรับประเทศไทยพบว่าให้การตอบรับวัฒนธรรมเกาหลีอย่างสูง และตลาดสินค้าออนไลน์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเช่นกัน โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โซเชียล มีเดีย เว็บไซต์ และออนไลน์มาร์เก็ตเพลส อยู่ประมาณ 5 แสนราย และมีคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 14.87 ล้านคน

“ที่ผ่านมาจะพบว่าสินค้าจากเกาหลี มักจะเป็นการจำหน่ายโดยการฝากซื้อ หรือผ่านตัวแทนที่เรียกว่า Pre-Order จากเว็บไซต์ที่เปิดรับนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งลูกค้าจะไม่รู้เลยว่าสินค้าที่ได้รับนั้นเป็นสินค้าของแท้จากแหล่งผลิตโดยตรงหรือไม่ สินค้าจะเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง และยังมีราคาสูงกว่าสินค้าจริง เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางในการซื้อขาย ทำให้บริษัทเห็นศักยภาพของตลาดสินค้าออนไลน์ในไทย ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนทั้งในเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจจากภาครัฐ การขยายตัวของตลาดออนไลน์ในประเทศ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีลักษณะความต้องการสินค้าและช่องทางการซื้อแบบออนไลน์ จึงอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างจริงจัง ซึ่งในอนาคตจะขยายตลาดไปยังประเทศเมียนมา กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ตุรกี และรัสเซีย ขณะเดียวกันมีแผนนำสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง สมุนไพรกึ่งสำเร็จรูป และสบู่ของไทยไปจำหน่ายในเกาหลีด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559