รัฐ-เอกชนโหมอัดอีเวนต์ชิ้นส่วน หวังกระตุ้นอุตฯยานยนต์คึกคัก

18 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
ภาครัฐหนุนจัดงานกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ "กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ"หัวหอกจัดงาน TAPA 2016 อวดจุดแข็งผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย พร้อมตั้งเป้าเงินสะพัด 2.1 พันล้าน ด้านหน่วย BUILD จับมืออินเตอร์แมคจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2016 กลางปีนี้ หวังช่วยจับคู่ธุรกิจเติบโต 5% โกยเงินมากกว่า 8 พันล้านบาท

[caption id="attachment_43903" align="aligncenter" width="500"] ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย[/caption]

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรม ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย, สมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ,สมาคมผู้ค้าอะไหล่วรจักร และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย ได้จัดงานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์และอุปกรณ์ตกแต่ง 2559 หรือ TAPA 2016 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2559 อาคาร 101-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

สำหรับการจัดงานดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิด"World Auto Parts Sourcing Hub, The Green Innovation and High Quality Product for Sustainable Growth" นำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พัฒนาตามแนวคิดเพื่อโลกสีเขียว ,ลดมลพิษ ,ประหยัดพลังงาน ,เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อน

โดยงาน TAPA 2016 มีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิต ,ผู้ส่งออก ตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซัพพลายเออร์ของผู้ผลิต OEM ,REM และผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 576 บริษัท 1,031 คูหา

นางมาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในอาเซียน ดังจะเห็นจากตัวเลขการส่งออกยานยนต์ปี 2558 มีมูลค่ารวมกว่า 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นสินค้ายานยนต์ มูลค่าการส่งออก 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์มีมูลค่าส่งออก 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

"การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศให้เห็นถึงความพร้อมของไทยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ไม่เพียงเท่านั้นเรายังมีการเปิดตัวสินค้า นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ โดยจะเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการของเราขยายฐานการค้าระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆได้ ซึ่งเราประเมินแล้วว่าตลาดในภูมิภาคอาเซียนนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน"

นางมาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในปีนี้คาดว่าจะมีนักธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า 1 หมื่นรายทั่วโลก โดยจะมาจากอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย แอฟริกา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ ,รัสเซีย และจะมีมูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปีจากงานนี้ประมาณ 2.1 พันล้านบาท

นอกเหนือจากงานดังกล่าวแล้ว ในช่วงกลางปีจะมีการจัดงาน ซับคอนไทยแลนด์ 2016 SUBCON THAILAND 2016 งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต เพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยจัดระหว่างวันที่ 11-14 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งงานนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยเป็นผู้จัด

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและกลับไปสู่การผลิตที่ 1 ล้านคันในอนาคต ดังนั้นภาครัฐต้องมีการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการของไทย ซึ่งในฐานะผู้จัดงานได้มีการทำงานร่วมกับสำนักงานของ BOI ในต่างประเทศทั้ง 14 แห่ง และยูบีเอ็มเพื่อเชิญผู้ค้าหรือผู้ซื้อจากประเทศเข้ามาจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนภายในงาน

"แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์จะชะลอตัว อันเนื่องมาจากปัจจัยลบ อาทิ โครงสร้างภาษีใหม่ที่ทำให้ราคารถปรับสูงขึ้น รวมไปถึงเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว แต่เราประเมินว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจะต้องมีการปรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเพื่อจะแข่งขันได้ อีกทั้งต้องมีเวทีที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพสินค้าของตัวเองให้ทั่วโลกได้รู้ ซึ่งเรามั่นใจว่างานที่ได้จัดขึ้นจะเป็นเวทีที่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจกับผู้ประกอบการต่างชาติได้"

นางสาวซ่อนกลิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในปีนี้ถือเป็นปีที่ 10 โดยคาดว่าจะมีผู้ซื้อชิ้นส่วนเข้าร่วมงานมากกว่า 2 หมื่นคนจาก 15 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าจะมีการจับคู่ทางธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการจับคู่ทางธุรกิจมากถึง 4.6 พันคู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.9 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559